วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

"พระ" รับ เพื่ออนุเคราะห์ ผู้ให้



วันนี้  ไปชมการถวายทาน ในสมัยพุทธกาล กันครับ
เมื่อครั้งที่  กษัตริย์ลิจฉวี มากราบทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ณ สำนักของพระเจ้าพิมพิสาร 
...

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงทำพื้นที่ ๕ โยชน์ 
ระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำคงคาให้ราบเรียบแล้ว 
ให้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเวลาที่จะเสด็จไป

พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุ ๕๐๐ รูปแวดล้อมแล้วเสด็จไป
พระราชาทรงเอาดอกไม้ ๕ สีโปรยหนทาง ๕ โยชน์เพียงหัวเข่า
ให้ยกธงผ้า หม้อน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น
ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า
ฉัตรชั้นเดียวสำหรับพระภิกษุแต่ละรูป
ทรงทำการบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น
พร้อมด้วยราชบริพารของพระองค์
ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหารหลังหนึ่งๆ
ถวายมหาทาน ทรงนำเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ๕ วัน

ณ ที่นี้ ทรงประดับเรือด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง
แล้วทรงส่งสาสน์ไปถวายเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว
ขอเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ ตกแต่งหนทางถวายการรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด
เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นตกลงกันว่าจะทำการบูชาเป็นสองเท่า
ทำพื้นที่ ๓ โยชน์ระหว่างกรุงเวสาลีและแม่น้ำคงคาให้เรียบร้อย
จัดเศวตฉัตร ๔ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า
สำหรับพระภิกษุแต่ละรูปๆ ละ ๒ ชั้น ทำการบูชา เสด็จมาคอยอยู่.

               ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงทำเรือขนาน ๒ ลำแล้วสร้างมณฑป
ประดับด้วยพวงดอกไม้ ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น.
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น.
แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร
พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ลงน้ำประมาณแต่พระศอ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละ
จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา แล้วก็เสด็จกลับ
เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพ ได้พากันทำการบูชา.
นาคราชทั้งหลายมีกัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น
ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา ก็พากันทำการบูชา. ด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา
สิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวี กรุงเวสาลี.

               ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็ทำการบูชาเป็น ๒ เท่า
ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทำการบูชา
ออกไปรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงในน้ำประมาณแค่พระศอ.
ขณะนั้นเอง ครู่นั้นเอง มหาเมฆมียอดคลุมด้วยความมืด
มีแสงฟ้าแลบเคลื่อนตัวไป ส่งเสียงคำรามครืนครั่นก็ตั้งขึ้นทั้งสี่ทิศ.
ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา
ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ชนเหล่าใดต้องการจะเปียก
ชนเหล่านั้นเท่านั้นย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก
ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอ
ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน.

               พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ทุกๆ หนึ่งโยชน์
ในระหว่างทางถวายมหาทาน ทรงทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน
จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี. ... 

(อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ)
-------------------------------------------------


ผมว่า พระไตรปิฎกบันทึกรายละเอียดไว้ชัดนะครับว่า
พระราชา และมหาชน ถวายทาน ด้วยความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ต่อคณะพระภิกษุสงฆ์ ประณีตดีงามเพียงใด

และที่สำคัญ  พระพุทธองค์ ไม่ทรงห้ามการถวายทานอันปราณีตนั้นเลย !
ก็เพราะ พระองค์ทรงต้องการให้เกิดอานิสงส์แห่งบุญ แก่ผู้ถวาย เป็นสำคัญ !

การอนุเคราะห์ของ พระพุทธองค์นั้นเสมอกัน
ทั้ง พระราชา และแม้ มหาทุคตะ ...

ดังเช่นที่ พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดมหาทุคตะ
ตั้งแต่ยามค่ำไปตลอดทั้งคืน กระทั้งถึงรุ่งเช้า ... จนในที่สุด
มหาทุคตะ ที่มีผ้าห่มกายเก่าๆ ผืนเดียว เปลี่ยนกันใส่กับภรรยา
เพื่อมาฟังธรรมจากพระองค์  สามารถเอาชนะความตระหนี่ได้
ตัดใจ น้อมผ้าเก่าผืนเดียวในชีวิต ถวายแด่พระพุทธองค์ !

ถามว่า พระพุทธองค์ ต้องการผ้าผืนเก่าคร่ำคร่าของมหาทุคตะ นั้นหรือ ?
เช่นเดียวกัน
พระพุทธองค์ ต้องการดอกไม้ 5 สี สูงเท่าเข่าในระยะทาง 5 โยชน์(X 16 กม.) หรือ ?
และ ... ฯลฯ เพื่อพระองค์เองหรือ ?

ไม่เลย !
การรับของถวายเหล่านั้นของพระองค์  เป็นการรับเพื่ออนุเคราะห์แก่ ผู้ให้
เพื่อให้เกิดความสุข และเป็นเหตุปัจจัยแห่งกุศลทั้งหลายแก่ผู้ให้ตลอดถึงนำชีวิตของผู้ให้เจริญสูงส่งไปสู่หนทางพระนิพพาน คือ หลุดพ้น จากความทุกข์ทั้งปวงของชีวิตในที่สุด !

กล่าวถึง พระภิกษุสงฆ์ ผู้เป็นพุทธบุตร ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็ทำหน้าที่ดังเช่นพระพุทธองค์
คือ ท่านเป็นผู้รับ เพื่อ อนุเคราะห์ แก่ผู้ให้
พระภิกษุสงฆ์ จึงได้ชื่อว่าเป็น “เนื้อบุญ” 
แม้ชื่อว่าเป็น ผู้ขอ  ท่านก็เป็น ผู้ขออันประเสริฐ
คือ ขอแล้ว เกิดกุศลต่อผู้รับ
ด้วยค่าว่า พระภิกษุสงฆ์ คือ ผู้ประพฤติธรรมเดินตามรอยพระพุทธองค์ มุ่งสู่พระนิพพาน

พอจะเข้าใจโดยเบื้องต้นไหมครับว่า ...
การรับ ของ พระภิกษุสงฆ์  เป็นไปเพื่อประโยชน์ของใครอย่างไร ?



เมล็ดข้าวพันธ์ดี ควรหว่านลงในเนื้อดิน เช่นไรละครับ ?
ชาวศิวิไลซ์
13  กรกฎาคม 2560


วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ตอบคำถามผู้สงสัย : กรณีพระใช้ facebook และสื่อ Social อื่นๆ





1.พระใช้ facebook ไม่ผิดหรือ?

ตอบ : 
ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่า ใช้ทำอะไร ถ้าใช้ในทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ก็ไม่เป็นบาปกลับเป็นบุญเพราะนำธรรมะมาสอนคนในสื่อเทคโนโลยี 
ที่คนสมัยใหม่มักไม่มีเวลาอ่านหนังสือธรรมะ 
ดังนั้นที่พระหรือวัดส่วนใหญ่เปิด facebook ขึ้นมาก็เพื่อให้ญาติโยมที่ไม่มีเวลา 
หรือมีเวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอได้อ่านธรรมะทางออนไลน์ 
นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือใช้แจ้งข่าวบุญ ร่วมบุญในกิจกรรมงานบุญต่าง ๆ 
ให้ญาติโยมได้ร่วมบุญ อนุโมทนาบุญร่วมกัน 
แต่ถ้าพระใช้ในทางที่ผิดเช่น ใช้ในทางลามกอนาจารก็เป็นกรรม 
และเป็นกรรมหนักด้วย


2.พระบวชแล้วทำไมไม่ละทางโลกโซเชี่ยลฯ

ตอบ : 
ต้องเข้าใจดังนี้ก่อนว่า พระท่านมีหลายประเภทเช่น ...

พระนักปฏิบัติก็มี ท่านก็จะปลีกวิเวกออกไปจาริกเดินธุดงค์
แบกกลดไปตามทางหรือเข้าป่าไปเลย

พระศึกษาปริยัติ ท่านก็จะเรียนตำราคัมภีร์พระไตรปิฎกเพียงอย่างเดียว 
เพื่อศึกษาและนำมาเผยแผ่ศาสนา

พระนักเผยแผ่ เช่น พระนักเทศน์ พระนักอบรม 
(จัดโครงการบวชพระ สามเณร อุบาสิกาแก้วฯ หรืออบรมธรรมะให้กับนักเรียน นักศึกษา)

พระธรรมฑูต ที่ถูกนิมนต์ไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อสอนธรรมะและประกาศศาสนา 
หรือพระที่ท่านเป็นพระนักเผยแผ่ท่านก็มีหลายวิธีเช่น ...
ไปออกรายการโทรทัศน์ เขียนหนังสือ ทำBlog ,website ,facebook 
เกี่ยวกับธรรมะเป็นของตนเอง 
หรือของวัดทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ดังนั้น ...
จึงเป็นการไม่ผิดที่นำธรรมะมาเผยแผ่ ยังดีกว่าสื่อลามกอนาจารมิใช่หรือ 
ให้คิดว่าเป็นบุญของเรา แม้เราไมมีเวลาแต่พระท่านมาโปรดถึงที่หน้าจอ


3.ทำไมเพื่อนที่พระรับ add ไว้ จึงมีเพื่อนที่เป็นผู้หญิงด้วย?

ตอบ : 
หากว่าพระรับ add แต่ ผู้ชาย ก็เท่ากับว่าการเผยแผ่ธรรมะเป็นการจำกัดเพศ จำกัดบุคคล 
เพราะโยมสีกาที่เป็นผู้หญิงที่เขามีศรัทธา ขอ add ใน facebook ของพระ 
เขาก็อยากที่จะสนทนาธรรมะ แล้วอยากที่จะเป็นผู้เข้าใกล้พระรัตนตรัย 
คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหมือนกับผู้ชาย 
แต่หากกลับกันถ้าผู้ถามที่เป็นผู้ชายว่า 
ถ้าหากเขาไปเกิดเป็นผู้หญิงแล้วมีข้อจำกัดว่าไม่ให้พระแสดงธรรมะแก่เพศหญิง 
เขาเหล่านั้นอยากที่จะศึกษาธรรมะ แต่ถูกปิดโอกาส จะเป็นเช่นไร 
ดังนั้นให้บุคคลที่มีเนื้อที่ของใจอันน้อยนิด ทำใจให้กว้างขึ้น


4.แล้วพระเผยแผ่ทางสื่ออื่นไม่ได้หรือ?

ตอบ : 
ตามความจริงเผยแผ่ได้หลายทาง เช่น ทีวี การเทศน์ หรือออกหนังสือเป็นต้น 
แต่เราต้องมองความเป็นจริงว่า เราไปฟังธรรมะที่วัดกับพระทุกวัน 
หรือเรามีเวลาไปถือศีลที่วัดทุกวันหรือไม่
ดังนั้นการเผยแผ่พระพุทธศานาที่ตรงจุดและง่าย ให้กับเด็กเยาวชน หรือคนยุคใหม่ 
จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี เช่น ทาง facebook live ออนไลน์เสวนาธรรมะเป็นต้น 
หากพระจะไปเช่าสถานี ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมาก หากพระให้คำปรึกษาโยมทางโทรศัพท์ 
ก็จะมีคนที่จิตอกุศล คิดไปต่าง ๆ นานาอีกว่าพระคุยกับใครเป็นชั่วโมง 
ดังนั้น การเผยแผ่ธรรมะ ต้องไม่เป็นการเดือดร้อนผู้เผยแผ่เองและผู้อื่นด้วย


5.ทำไมพระบางรูปจึงออนไลน์ facebook ดึก ๆ?

ตอบ : 
พระบางรูปท่านอาจอยู่ต่างประเทศ เวลาไม่ตรงกันจึงออนดึกได้ 
บางกรณีตอนเช้าต้องไปเรียน ปฎิบัติศาสนกิจ หรือมีกิจนิมนต์ถึงเย็น 
กลับมากว่าจะสรงน้ำ สวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม 
หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายจนดึก บางทีต้องหาข้อมูลงานทางอินเตอร์เน็ต 
จึงออนไลน์ facebook ในช่วงที่ยังไม่จำวัตรนั่นเอง ตีสามตีสี่ 
ก็ต้องตื่นมาทำวัตรสวดมนต์ บิณฑบาตตามปกติเป็นอย่างนี้ทุกวัน 
ดังนั้นเราจึงไม่ควรด่วนสรุปว่าทำไมท่านจึงยังไม่จำวัตรพักผ่อนเสียที่ 
ว่าทำไมท่านไม่ออนไลน์ facebook ในตอนกลางวัน 
คำตอบที่ตอบมานี้คงคลายข้อสงสัยอยู่ได้บ้าง


สรุปคือ...
หากพระท่านใช้สื่อโซเชียลฯ ในทางที่ดีงาม สอนจริยธรรม ศีลธรรม และให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งดีเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจทั่วไปมิใช่หรือแต่มีข้อที่น่าให้คิดว่าทำไม เมื่อพระออกมาในสื่อเผยแผ่ออนไลน์หรือโซเชี่ยลฯ จึงมีคนโจมตีมากมายทั้ง ๆ ที่ใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ แก่คนทั่วไป แต่ทำไมสื่อลามกอนาจารมากมายที่เหตุของ กาม ตัณหา ราคะ ทำให้เกิดภัยสังคมมากมาย จึงมีคนส่วนน้อยที่ออกมโจมตี  หรือวันนี้ จริยธรรมในใจคนนั้นหายไป !!?

Cr. ภิกษุหนึ่ง ณ ยุคSocial Network กล่าวไว้