วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พระ : ฝึกฝนอบรมตนเอง เกื้อกูลผู้อื่น : สกฺกธมฺโม ภิกขุ

วันนี้, เรามาพูดคุยกับ พระมหากฤตพจน์ ค่ะ
-------------------------

หลวงพี่,  ก่อนมาบวชพระ คิดจะใช้ชีวิตอย่างไรคะ 

มีความฝันแบบคนอื่น ๆ เขาคิดกัน  คือ  โตขึ้นเราจะอาชีพดี ๆ เป็นข้าราชการ  
และมีครอบครัวที่ดี  และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข  
โดยไม่ไปทำความเดือดเนื้อร้อนใจให้ใคร ๆ   และชีวิตในโลกนี้ก็มีเพียงไม่เกิน 100 ปี  
เพราะฉะนั้น  เราจะใช้เวลาไปกับความสุขอย่างคุ้มค่า


หลวงพี่สนใจศึกษาธรรมะ/พระพุทธศาสนาได้อย่างไรคะ ?

เป็นเพราะมีญาติ ๆ ที่เข้าวัดแล้วชวนหลวงพี่เข้ามาได้สัมผัสบรรยากาศภายในวัดบ่อย ๆ  
มันจึงเกิดความคุ้นเคย  
และเมื่อได้ฟังธรรมะจากพระอาจารย์ที่ท่านได้เทศน์ให้ฟัง  บางอย่าง  ธรรมะบางหัวข้อ  
ทำให้เราได้คิดในอีกแง่มุมที่เราไม่เคยคิด  เกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิต ว่า ... 
เราเกิดมาจากไหน  ตายแล้วจะไปไหน  เป็นต้น  
 จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเริ่มหันมาสนใจในพระพุทธศาสนา  และพร้อมเปิดใจที่จะเรียนรู้


อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการอุปสมบทของหลวงพี่คะ 
และ หลวงพี่มีความตั้งใจอย่างไรในการใช้ชีวิตในเส้นทางธรรมค่ะ 
?

แรงบันดาลใจในการอุปสมบทของหลวงพี่เริ่มมาจาก  
การบรรพชาบวชเป็นสามเณรน้อยในโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนก่อน  
เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว  พระอาจารย์ทุกๆ รูป  ท่านได้สอนสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกและชีวิต  
ความเป็นจริงของชีวิต  ว่า  จริง ๆ แล้วชีวิตของเราทุกคน  เมื่อเกิดมาแล้ว  
ต้องทำบุญ ละบาป และทำจิตใจให้ผ่องใส  ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า   
และก็อีกหลาย ๆ เรื่อง ที่พระอาจารย์ท่านได้สั่งสอนอบรมให้  
ในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1 เดือน
            คำสอนทั้งหมดก็เริ่มซึมซาบเข้าไปในจิตใจของหลวงพี่ทีละนิด ๆ  
จนอยากบวชเพื่อใช้ชีวิตแบบพระ  


พระต้องทำอะไรบ้างคะ ขอหลวงพี่ช่วยอธิบาย ?

ภารกิจของพระมี 2  อย่าง คือ  
1.ฝึกฝนอบรมตัวเอง  คือ  การนำคำสอน  ธรรมะ  ที่เราได้เรียนรู้  
มาปฏิบัติ  เพื่อให้ตัวเองเป็นเนื้อนาบุญให้กับชาวโลกได้  
2.นำคำสอนเผยแผ่ให้กับชาวโลก   คือ  เมื่อเราได้นำธรรมะมาปฏิบัติแล้ว  
แล้วก็ต้องเป็นที่พึ่งทางใจให้กับญาติโยม  โดยเอาธรรมะไปสั่งสอนญาติโยมต่อไป


ในทัศนะของหลวงพี่, พระพุทธศาสนา ในสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไรคะ 

พระพุทธศาสนาในปัจจุบันของไทยที่ขึ้นชื่อเป็นเมืองพุทธนั้น  
แท้จริงส่วนมากจะเป็นเพียงคนพุทธในนาม  หรือในทะเบียนบ้านกันเท่านั้น  
เนื่องจากคนส่วนมากไม่ค่อยจะให้ความสนใจในเรื่องของธรรมะสักเท่าไหร่  
ดูได้จากการที่คนไทยให้ความสนใจกับการงานเกินไปจนลืมเรื่องจิตใจไป  
พอมีเรื่องทุกข์ใจ เศร้าใจ  ถึงจะเข้าวัดและเมื่อสบายใจขึ้นก็ไม่กลับวัดมาทำบุญเลย  
ถึงทำก็ทำไปเป็นบางวาระ ๆ  เช่น งานวันเกิด  งานวันครบรอบวันตาย  เป็นต้น 
            อีกอย่าง  บรรยากาศในประเทศไทยปัจจุบันนี้  
ไม่หลงเหลือบรรยากาศของความเป็นพุทธศาสนาเหมือนสมัยอดีตเอาไว้เลย  
ถึงแม้เราจะมีวัดต่าง ๆ มากมายก็ตาม
           


หลวงพี่คิดว่า พระพุทธศาสนา/พระภิกษุ มีความจำเป็นในการปรับตัว อย่างไรบ้างไหมคะ 
ในสภาพสังคมปัจจุบัน ?

การปรับตัวของคนพุทธ  หรือ แม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยนั้น  
จำเป็นต้องมีความสามัคคีปองดองกันเข้าไว้   
พระพึ่งโยมเรื่องภัตตาหาร ปัจจัย 4 ทั้งหลาย  
โยมก็พึ่งพระเรื่องธรรมะปฏิบัติ  คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  
ที่นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน 
            และเมื่อมีภัยต่าง ๆ เข้ามา  ก็ช่วยกันปกป้องศาสนาพุทธของเรา  
คุ้มครองให้พระพุทธศาสนาอยู่ไปให้ได้นาน ๆ



โลก ณ วันนี้ เป็นโลกแห่งเทคโนโลยีในทุกด้าน หลวงพี่คิดว่า 
ในการทำงานพระศาสนาควรนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่องานสอนศีลธรรม หรือไม่/อย่างไร ?    
เพราะประเด็นนี้ ถูกมองด้วยสายตาที่ประชาชนไม่เข้าใจ ไม่คุ้น และนำไปสู่ความไม่ศรัทธา 
เช่น พระใช้โทรศัพท์ คอมฯ ถูกมองว่าไม่สมถะ เป็นต้น ... ในทัศนะของหลวงพี่คิดอย่างไร

เทคโนโลยีเป็นของกลาง ๆ   อยู่ที่เราว่า จะใช้มันในทางไหน    
และในยุคสมัยที่โลกเต็มไปด้วยเทคโนโลยีอย่างนี้  
การที่พระท่านจะนั่งกรรมฐานอยู่ภายในวัด  หลังป่า  และนาน ๆ จะมีญาติโยมไปที  อย่างนี้  
แล้วญาติโยมจะทำบุญกับใคร  ญาติโยมจะได้บุญจากทางไหน  
แล้วธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ญาติโยมจะได้ฟังไหม 
   
            และยุคสมัยนี้  เด็กเยาวชนก็รู้จักเทคโนโลยีกันหมด  
แล้วพระจะทำอย่างไรให้เด็กได้รู้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  
ถ้าไม่ให้พระใช้เครื่องมือสื่อสาร   
และถามว่า  เด็กส่วนมากเขาอยากจะเข้าวัดโดยจิตสำนึกพื้นฐานหรือ 
            แล้วอย่างนี้  พระพุทธศาสนาจะดำรงคงอยู่ได้อย่างไร

            เวลามองเรื่องอะไร  ก็สมควรมองให้เห็นในทั้ง 2 ด้าน  
แล้วค่อยนำข้อดีข้อเสียมาเปรียบเทียบกัน 


ชีวิตผู้คนหันไปให้ค่านิยมทางวัตถุ ละเลยจิตใจ เป็นผลทำให้หลงทำผิด      
หลวงพี่มีทัศนะอย่างไร กับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันในสภาวะดังกล่าว ?
หลวงพี่มีคำแนะนำอย่างไรไหม?

เมื่อชีวิตเป็นทุกข์  คนหาทางออกไม่ถูกทาง  
ไปทำในสิ่งที่ผิด ๆ พลาด ๆ จริงอยู่มันอาจจะลืมความทุกข์ใจ  ทุกข์กายนั้นได้  
แต่ก็เป็นเพียงเวลาสั้น ๆ และเมื่อหมดจากเวลาพวกนั้น  
คุณก็ต้องกลับมาทุกข์ใหม่อีกอยู่ดี    
และยิ่งอันตรายกว่านั้นคือ  เมื่อคุณตายแล้ว  
สิ่งที่คุณทำอะไรไม่ดีเอาไว้ในชาตินี้  เป็นนำคุณไปนรก  
ต้องทุกข์ทรมานยิ่งกว่าชาติที่ยังเป็นมนุษย์

            สิ่งที่หลวงพี่อยากแนะนำคือ  เอาธรรมะไปใช้ในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง  
ดีกว่ามาค่อยแก้ไข้กับสิ่งที่ตัวเองทำอะไรผิด ๆ และ ไปแก้ไขอย่างไม่ถูกวิธี

------------------------------------------
บันทึกถ้อยคำ โดย บัว  อรุโณทัย
24 ธันวาคม 2559
 




พระ : ธรรมะเป็นหลักใจ


วันนี้เราได้รับความเมตตาจาก หลวงพี่อิศเรศ ในการพูดคุยสนทนาค่ะ

---------------------------------


หลวงพี่, ก่อนอุปสมบทใช้ชีวิตอย่างไรคะ ?

ก่อนบวชก็แนวคิดการใช้ชีวิตเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วๆ ไปคือ 
อยากมีชีวิตที่ดี มีงานดีๆ ทำ มีเงินเยอะๆ อยากไปเที่ยวรอบโลก 
อยากประสบความสำเร็จในชีวิตทุกด้าน ดูแลครอบครัว พ่อ แม่ ให้มีความสุข


อะไรทำให้หลวงพี่สนใจศึกษาธรรมะ/พระพุทธศาสนาคะ?

สิ่งที่ทำให้สนใจพระพุทธศาสนา เริ่มมาจากครอบครัว
เพราะครอบครัวจะเข้าวัดทำบุญเป็นประจำ ตามวิถีของคนต่างจังหวัด
ที่มีความผูกพันธ์กับวัด จึงได้สัมผัสและรู้จักพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ 
แต่ก็ไม่ได้รู้ลึกซึ้งอะไรมากในเรื่องคำสอนทางพระพุทธศาสนา


อะไรเป็นแรงบันดาลใจของหลวงพี่ในการอุปสมบทคะ 

ตอนตัดสินใจบวชครั้งแรกตอนนั้นเรียนมหาวิทยาลัย ปีที่ ๑ 
มีความคิดอยากจะบวชตอบแทนพระคุณให้พ่อแม่ 
เพราะตอนเริ่มเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย 
ก็ได้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรมชมรมพุทธ 
ได้ฟังพระอาจารย์ท่านสอนธรรมะ ต่างๆ มากขึ้น 
เลยทำให้เราได้รู้จักการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ 
และ อยากศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น 
โดยเฉพาะเรื่องการปฎิการบัติธรรม 
ที่ทำให้เราสามารถพัฒนาจิตใจ ความคิด สติปัญญา ของเราให้ดีขึ้น


หลวงพี่,มีความตั้งใจอย่างไร ในการดำรงตนเป็นพระภิกษุคะ ?

          เมื่อบวชแล้วก็มีความตั้งใจจะศึกษาธรรมะ 
ฝึกฝนตนเองตามศีล และ วินัย ของพระ ให้ดีที่สุด 
เพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้กับพ่อแม่ และ สืบอายุพระพุทธศาสนา 
รวมถึงตั้งใจจะปฎิบัติธรรมให้เข้าถึงความสุขภายใน 
จะได้นำสิ่งเหล่านี้มาถ่ายทอดให้กับพ่อแม่ และ ญาติโยมท่านอื่นๆ 
ให้เกิดความศรัทธาในพุทธศาสนา


ความเป็นพระ ภาระกิจหน้าที่ของพระ คือ อย่างไร ขอหลวงพี่ช่วยอธิบายสักหน่อยค่ะ?

ภิกษุ ตามภาษา บาลี แปลว่า ผู้ขอ แต่คำว่าผู้ขอในที่นี้ พระพุทธเจ้าท่านอธิบายว่า 
เป็นผู้ขอ ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้รับ 
คือ พระภิกษุ ไม่ได้ประกอบอาชีพ หาทรัพย์เพื่อนำมาเลี้ยงชีวิตเหมือนฆราวาส 
แต่จะอาศัยข้าวปลาอาหาร และ ทรัยพ์จากฆราวาส 
ที่ให้ด้วยความศรัทธา มาหล่อเลี้ยงชีวิต เพื่อประกอบความเพียร  
ปฏิบัติเพื่อหนทางสู่มรรคผล นิพพาน โดยไม่ต้องกังวลกับการหาเลี้ยงชีพ 
ผู้ให้ก็จะได้รับประโยชน์หรือผลบุญ จากทานทรัพย์ ที่บริจาคนั้น 

ดังนั้น หน้าที่และภารกิจ ของพระก็คือ 
การพฤติปฎิบัติตนตามหลักพระธรรมวินัย ให้สมบูรณ์ 
และ นำสิ่งเหล่านั้นมาเทศน์สอนให้แก่พุทธบริษัท ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล และ ธรรม 
และช่วยกันทะนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง


ในทัศนะของหลวงพี่, พระพุทธศาสนา ในสังคมไทยปัจจุบันเป็นอย่างไรคะ 

          พุทธศาสนากับวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน ไม่ค่อยแน่นแฟ้นเหมือนยุคอดีต 
เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น ทำให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น 
มีความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของคนปัจจุบันต้องหันไปพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น 
ทำให้ไม่ค่อยสนใจในพุทธศาสนา 
อีกทั้งการหล่อหลอมจากครอบครัวที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไม่รู้จักพุทธศาสนา 
ก็เลยไม่ได้ปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกหลาน ใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงดู ทั้งร่ายกาย และ จิตใจ 
ทำให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ไกลตัว และ ไม่น่าสนใจ ของคนในสังคมปัจจุบัน

          ความสัมพันธ์ระหว่างพระและ คนในสังคมปัจจุบัน 
ก็ไม่ได้ผูกพันธ์ พึงพาอาศัยกันเหมือนยุคก่อน เพราะในยุคก่อน 
พระจะเป็นศูนย์รวมจิตใจ และ ที่พึ่งทางใจ ให้กับคนสังคม 
พระจึงเป็นที่เคารพ เลื่อมใส เป็นผู้นำทางจิตใจ 
ได้รับการดูแลอุปัฏฐากจากศรัทธาสาธุชนตามกาลสมควรอยู่เป็นนิจ  
แต่ปัจจุบัน คนในสังคมดูแลจิตใจด้วยเทคโนโลยี ไม่ได้ศึกษาธรรมะ  
จึงไม่เห็นประโยชน์จากการต้องเข้าหาพระภิกษุ เพื่อฟังธรรม 
หรือยกระดับจิตใจให้ดีขึ้นด้วยธรรมะ และ ไม่รู้จักคุณธรรมของพระสงฆ์ 
จึงมีการดูถูก ใส่ร้าย ว่ากล่าวพระสงฆ์ เป็นเรื่องปกติ โดยที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ



หลวงพี่คิดว่า
พระพุทธศาสนา/พระภิกษุ มีความจำเป็นในการปรับตัว
 หรือไม่/อย่างไรคะ ?

          พุทธศาสนาเป็นหลักคำสอนที่มีเหตุและผล สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย 
ไร้กาลเวลา เพราะธรรมะ คือ ธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก 
ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปนานแค่ไหน ธรรมชาติ หรือ ธรรมะ ก็ยังเหมือนเดิม 
ดังนั้นการจะดำเนินชีวิตให้มีความสุขทั้งทางโลกและทางธรรม 
ก็ต้องอาศัยธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติ 
ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และ ผู้อื่น


โลก ณ วันนี้ เป็นโลกแห่งเทคโนโลยีในทุกด้าน หลวงพี่คิดว่า
เราควรนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาใช้เพื่องานสอนศีลธรรม อย่างไรคะ
เพราะประเด็นนี้ ถูกมองด้วยสายตาที่ประชาชนไม่เข้าใจ และนำไปสู่ความสงสัย เช่น
ทำไมพระใช้โทรศัพท์ คอมฯ ถูกมองว่าไม่สมถะ เป็นต้น ... ในทัศนะของหลวงพี่คิดอย่างไร
?

          เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์ติดต่อสื่อสารกันได้เร็วขึ้น สะดวกสบาย 
เข้าถึงข่าวสารได้มากขึ้น การใช้เทคโลยี จะมีคุณหรือ มีโทษ ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ 

การนำเทคโนโลยีมาในการเผยแพร่ธรรมะ ก็เป็นการใช้เทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์ 
เพราะคนในสังคม ในโลก สามารถเข้าถึงพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น 
พระสงฆ์ ในปัจจุบันก็ต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีในการเผยแพร่ และ สอนศีลธรรม 
เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้ธรรมะเป็นเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมาได้ 
ถึงแม้จะใช้เทคโนโลยี แต่แก่นของธรรมะ ก็ยังคงอยู่ ดังนั้นเราจึงต้องมองว่าพระท่านใช้เทคโนโลยี 
เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ไม่ควรมอง และ ตัดสิน แต่ภายนอก



ยุคนี้,ผู้คนหันไปให้ค่านิยมทางวัตถุ เมื่อชีวิตเป็นทุกข์ ก็หาทางออกไม่ถูก 
เป็นผลทำให้หลงทำผิด หลวงพี่มีทัศนะอย่างไร กับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันคะ?
หลวงพี่มีคำแนะนำอย่างไรไหมคะ?

          เนื่องจากปัจจุบันมีความเจริญทางด้านวัตถุมาก 
ผู้คนก็ละเลยการพัฒนาความเจริญทางด้านจิตใจ 
เป็นสาเหตุของปัญหาในสังคมมากมายๆ จึงควรมีการส่งเสริม และ สนับสนุนให้คนในสังคม 
ได้หันมาเรียนรู้พุทธศาสนากันให้มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม 

เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการแก้ที่จิตใจ 
โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว และ โรงเรียน ซึ่งเป็นที่ปลูกฝังคุณธรรม ธรรมะ 
ให้กับคนตั้งแต่เกิด เหมือนกับ คำขวัญ ที่ว่า เยาวชนที่ดี คือ อนาคตที่ดี ของประเทศ


กราบขอบพระคุณ หลวงพี่อิศเรศ


บันทึกคำสนทนา  โดย บัว  อรุโณทัย
24 ธันวาคม 2559 




วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พระ : สันติสุขและคุณค่าอันยั่งยืน : สิริธโร ภิกขฺ

วันนี้,เรามาพูดคุยกับ หลวงพี่มนต์ธร กันค่ะ




หลวงพี่
, ก่อนอุปสมบทมีแนวคิด และใช้ชีวิตอย่างไรคะ ?

      ก่อนบวชหลวงพี่ก็เป็นเด็กทั่วๆไปที่อยู่ในสังคมที่ต้องแข่งขัน มีความใฝ่สูง 
แต่ก็เป็นความใฝ่สูงในทางที่ดี เคยมีความคิดว่าอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
เพื่อจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง เนื่องจากโยมพ่อโยมแม่ส่งให้เรียนในโรงเรียนประจำ
ตั้งแต่ ป.1ถึง ม.6 (รร.ขอนแก่นวิทยายน) 
และมีโอกาสเรียนอยู่ในห้องเรียนห้อง king มาตลอด ผลการเรียนค่อนข้างดี 
มักจะสอบได้เป็นลำดับที่ต้นๆของโรงเรียน รู้สึกว่าเราจะต้องเป็นที่ 1 
รู้สึกว่าเราต้องแข่งขันตลอดเวลา ตอนนั้นก็คิดเหมือนคนทั่วๆไปว่า 
เรียนจบแล้วจะต้องเป็นหมอบ้าง เป็นนายพลทหาร นายพลตำรวจบ้าง 
จะต้องอยู่ในจุดที่สูงสุดของสังคมเพื่อสร้างเกียรติประวัติให้กับครอบครัวและวงศ์ตระกูล


อะไรทำให้หลวงพี่สนใจศึกษาธรรมะ/พระพุทธศาสนาคะ ?

          ตอนเรียนอยู่ชั้น ป.5 มีพระอาจารย์ชื่อพระครูสมุห์ธีรวัฒน์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติธรรมเวฬุวัน (เป็นศูนย์สาขาวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) 
ได้มาสอนการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ที่โรงเรียน พอได้เดินจงกรม นั่งสมาธิ 
ในตอนนั้นก็รู้สึกว่า ใจมันสบาย มันมีความสุข เลยเกิดความรู้สึกว่าอยากจะไปไปปฏิบัติธรรมต่อ 
เลยให้พ่อกับแม่ พาไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเวฬุวัน และอยู่ปฏิบัติธรรมที่นั้น 
พอไปครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจในบรรยากาศและสถานที่ที่สงบ และแนวทางการปฏิบัติที่เคร่งครัด 
ทำให้เกิดติดใจ และไปปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ 3 วันบ้าง 7 วันบ้าง 
ตามช่วงเวลาที่ว่างและมีโอกาส อย่างสม่ำเสมอ
          พอได้มีโอกาสได้มาเจอธรรมะ ซึ่งก็จะเน้นไปทางการปฏิบัติ 
ก็รู้สึกว่า ชีวิตของเราได้เปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้น จากเป็นคนพูดจาไม่เพราะก็พูดเพราะ 
จากเป็นเด็กขี้เกียจก็ขยันมากขึ้น จากเป็นคนใจร้อนก็เป็นคนใจเย็นขึ้น 
จากเป็นคนคิดมากก็เป็นคนไม่คิดมาก จากเป็นเด็กที่เคยเรียนซ้ำชั้น 
ก็กลายเป็นเด็กที่สอบได้ที่ 1 ของชั้นเรียน และที่ 1 ของโรงเรียนในเวลาต่อมา

อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการอุปสมบทของหลวงพี่คะ 

          มีความรู้สึกว่าตลอดที่เราได้ใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กจนโต 
เหมือนเราจะมีความสุขและมีความภูมิใจกับความสำเร็จในสิ่งต่างๆมากมาย 
ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องของความรักแบบคนหนุ่มสาวทั่วไป 
แต่ความสุขและความสำเร็จที่กล่าวมานั้น 
มันเป็นความสุขและความสำเร็จที่เรารู้สึกว่ามันยังไม่ยั่งยืน 
เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ ไม่มีความมั่นคงแน่นอน

              จนกระทั่งได้มีโอกาสมาบวชและศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง 
ในโครงการอุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน รุ่นที่ 32 ที่วัดพระธรรมกาย 
ได้มีโอกาสได้ฟังธรรมะจากพระอาจารย์  
ได้อ่านและศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนามากมาย 
และได้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ทำให้เราเข้าใจและซาบซึ้งว่า ...
ชีวิตที่มีความสุขที่แท้จริงคือชีวิตสมณะ 
เพราะเป็นชีวิตที่เรียบง่าย มั่นคง มีความแน่นอน รู้สึกว่าเป็นชีวิตที่มีความสุขที่จีรังยั่งยืน

หลวงพี่มีความตั้งใจอย่างไร ในการดำรงเพศสมณะคะ ?

          ก็อยากจะบวชเพื่อขัดเขลากิเลสให้หลุดพ้นไป 
อยากบวชเพื่ออุทิศชีวิตให้กับพระพุทธศาสนา บวชเพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่และผู้มีพระคุณ 
บวชเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน บวชเพื่อช่วยนำศีลธรรมมาสั่งสอนให้กับญาติโยม 
อยากให้เขาดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และดำเนินชีวิตไปในทางที่ไม่ผิดพลาด 
จะได้ไม่ต้องทุกข์และเสียใจอีก

อยากให้หลวงพี่เล่าถึง...ภาระกิจหน้าที่ของพระ คือ อย่างไรค่ะ ?

          พระก็มีหน้าที่อยู่ 2 ภารกิจใหญ่ๆ คือ 
1.ทำประโยชน์ตน และ 
2.ทำประโยชน์ท่าน
          ประโยชน์ตน ก็คือ การตั้งใจที่จะทำเพื่อตัวเอง คือการหมั่นปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา 
เพื่อให้ตนหลุดพ้นจากกองทุกข์
          ประโยชน์ท่าน ก็คือ การช่วยเผยแผ่ธรรมะ ช่วยเหลือสังคม 
ให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และอยู่ได้ด้วยธรรมะ 
ตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า




ในทัศนะของหลวงพี่, พระพุทธศาสนา ในสังคมไทย/สังคมโลกปัจจุบันเป็นอย่างไรคะ 

          หลวงพี่มีความคิดเห็นว่า คนไทยในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่ 
ยังไม่ได้เข้ามาศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง 
บวชก็บวชแค่ 7 วันบ้าง 14 วันบ้าง 
ซึ่งถือว่าน้อยมากกับการที่จะได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนที่มีอีกมากมาย 
จึงทำให้ห่างเหินจากศาสนาพุทธไปมาก 
คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแต่เพียงในทะเบียนบ้าน 
เพราะดูจากภาพข่าว หรือแนวคิดตามสื่อสังคมออนไลน์ 
การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ก็พอจะทำให้รู้และเข้าใจว่า 
เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ 
หรือแม้แต่หลักในการตัดสินใจก็ใช้หลักของความคิดตัวเองเป็นหลักในการตัดสินความถูกผิด 
ทั้งที่จริงๆควรจะตัดสินตามหลักศีลธรรม

          แม้แต่การอยู่ร่วมกัน การปฏิบัติต่อกัน ระหว่างพระกับคนในสังคมปัจจุบัน 
ก็ผิดแปลกไปเมื่อเทียบกับสังคมในอดีตที่หลวงพี่ได้เคยสัมผัสและได้เห็น 
ในสมัยที่หลวงพี่ยังเด็กๆ ถ้าเห็นพระ ทุกคนจะให้เกียรติและให้ความเคารพกับพระมากๆ 
บางคนถึงกับนั่งคุกเข่ากับพื้น เพื่อแสดงความเคารพและต้อนรับพระ 
แต่ในปัจจุบันสังคมค่อนข้างจะให้ความเคารพน้อยลง
และมีแนวทางปฏิบัติต่อพระสงฆ์ยังไม่ค่อยจะถูกต้องและเหมาะสมนัก


หลวงพี่คิดว่า พระพุทธศาสนา/พระภิกษุ มีความจำเป็นในการปรับตัว
เพื่อยังประโยชน์ตน และยังประโยชน์ส่วนรวม อย่างไรไหมคะ ?

          หลวงพี่คิดว่าพระพุทธศาสนา/พระภิกษุ มีความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อประโยชน์ตน 
และประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้ทันกับยุคสังคมปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง 
โดยจะต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทันกับสังคมที่เปลี่ยนไป 
สิ่งที่ควรปรับเปลี่ยน คือ รูปแบบ วิธีการและแนวทางในการเผยแผ่ธรรมะ 
ที่จะต้องตามโลกให้ทัน เพราะสังคมปัจจุบันเจริญขึ้นมาก 
โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร จนทำให้ใจไปเกาะเกี่ยว
หรือให้ความสำคัญกับเรื่องวัตถุมากกว่าจิตใจ 

               เราเป็นพระจึงต้องมีหน้าที่ไปดึงพวกเขากลับมาให้ความสำคัญ
กับเรื่องของจิตใจมากขึ้น 
โดยใช้รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับคนในยุคปัจจุบัน 
จึงจะดึงเขากลับมาได้ ถ้าไม่ใช้วิธีนี้เขาก็จะไม่สนใจ พอยิ่งไม่สนใจ เขาก็ไม่ปฏิบัติ 
ก็ยิ่งจะทำให้สังคมแย่ลงเรื่อยๆ เพราะคนขาดศีลธรรม
          แต่ในขณะที่พระต้องปรับตัวไปให้ทันกับสังคม พระภิกษุเองก็ต้องฝึกตัว
และปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตที่ถูกต้องตามหลักพระวินัยอย่างเคร่งครัด 
กล่าวง่ายๆคือ หลังต้องอิงต้นโพธิ์  ต้องปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา 
ทำหน้าที่ที่แท้จริงของการออกบวชควบคู่กันไปด้วย


โลก ณ วันนี้ เป็นโลกแห่งเทคโนโลยีในทุกด้าน หลวงพี่คิดว่า
พระพุทธศาสนา ควรนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาใช้เพื่องานสอนศีลธรรม 
หรือไม่/อย่างไร ไหมคะ 

          หลวงพี่คิดว่า พระมีความจำเป็นที่จะต้องนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาใช้
เพื่อสอนศีลธรรม เพราะการที่จะพูดกับคนยุคใหม่ก็ต้องคุยกับเขาให้รู้เรื่อง 
ถ้าคุยไม่รู้เรื่องก็สื่อสารกันไม่เข้าใจ 
เหมือนเราจะไปประเทศเยอรมัน ถ้าหากเราไม่ฝึกพูดภาษาเยอรมัน 
เราก็คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง 
หรือจะให้เขาหัดพูดภาษาของเราก็คงเป็นไปได้ยาก 
ฉันใดก็ฉันนั้น 
การจะสอนศีลธรรมก็เช่นกัน 
ก็ต้องสอนด้วยวิธีการที่คนในยุคปัจจุบันเขาสื่อสารกันเข้าใจ 
ถึงจะสื่อสารกันรู้เรื่อง จะรอให้เขามาเข้าวัดมาคุยกับเรา คุยภาษาแบบพระก็คงเป็นไปได้ยาก 
ยิ่งเป็นเด็กวัยรุ่นยุคนี้แทบจะไม่สนใจพระพุทธศาสนาเลย 
มีสมาธิสั้น ปฏิบัติตัวกับพระก็ยังไม่ค่อยจะถูก

          ส่วนการที่อาจจะถูกมองว่า พระใช้คอมฯ ใช้โทรศัพท์ ดูเป็นการไม่เหมาะสม ไม่สมถะ 
หลวงพี่คิดว่าการจะมองว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม 
ไม่ควรตัดสินที่ความรู้สึกหรือกระแสของสังคม ต้องตัดสินจากพื้นฐานความจริงที่ว่า...
สิ่งที่ทำนั้น มันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษอะไรหรือไม่อย่างไร 
ถ้าหากพระใช้คอมฯ ใช้โทรศัพท์แล้วทำให้เป็นโทษแก่ตัวพระภิกษุเองและเกิดโทษต่อสังคม 
อันนี้ก็ตัดสินได้เลยว่าไม่เหมาะสม 
แต่ถ้าหากพระใช้คอมฯ ใช้โทรศัพท์แล้วไม่ทำให้เกิดโทษแก่ตัวพระภิกษุเอง 
และยังสามารถสร้างประโยชน์ในการเผยแผ่ธรรมะแก่สังคม 
ซึ่งเป็นหน้าที่หรือภารกิจของพระภิกษุที่พึงกระทำ เพื่อจะได้ไม่เป็นหนี้แก่ญาติโยม 
ก็ไม่ควรตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม 
ซึ่งสังคมจะต้องแยกแยะและมองประเด็นตรงนี้ให้ออก


ชีวิตในยุคบริโภคนิยม ผู้คนหันไปให้ค่านิยมทางวัตถุ ละเลยจิตใจ 
เมื่อชีวิตเป็นทุกข์ ก็หาทางออกไม่ถูก เป็นผลทำให้หลงทำผิด 
หลวงพี่มีทัศนะอย่างไร กับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันในสภาวะดังกล่าวคะ ?
หลวงพี่มีคำแนะนำอย่างไรไหมคะ?

          คิดว่าเป็นเรื่องปกตินะ ก่อนมาบวชหลวงพี่ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน 
ใช้ชีวิตและมีวิถีชีวิตที่มุ่งเน้นไปทางสังคมวัตถุมากกว่าจิตใจ 
แต่โชคดีที่ได้มาเจอพระพุทธศาสนา ได้มาศึกษาถึงแก่นแท้จริงๆ และพอศึกษาแล้ว 
ก็นำเอาหลักธรรมไปปฏิบัติด้วย ก็เลยทำให้เข้าใจอะไรๆมากขึ้น 
ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 

หลวงพี่คิดว่าถ้าหากคนในยุคปัจจุบันหันกลับมาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น 
เข้ามาศึกษาและปฏิบัติตามหลักศีลธรรมจริงๆ ปัญหาในชีวิตต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้น 
ต่อให้เกิดขึ้น ก็สามารถทำใจยอมรับ 
และสามารถหาทางออกและแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและถูกทาง

          คงถึงเวลาแล้วมั้งที่ทั้งคนและพระภิกษุต้องปรับตัวเข้าหากัน 
เพื่อจะได้ทันยุคทันสมัย ทันสังคม โดยความเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจต้องเจริญไปควบคู่กัน 
จะให้ค่านิยมทางวัตถุเจริญนำจิตใจไม่ได้ ซึ่งเราคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน 
ต้องเอาหลักธรรมและศีลธรรมมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้ได้


กราบขอบพระคุณ : พระมนต์ธร สิริธโร 
------------------------



23 ธันวาคม 2559
บันทึกบทสนทนา โดย  
บัว  อรุโณทัย