วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พระ : สันติสุขและคุณค่าอันยั่งยืน : สิริธโร ภิกขฺ

วันนี้,เรามาพูดคุยกับ หลวงพี่มนต์ธร กันค่ะ




หลวงพี่
, ก่อนอุปสมบทมีแนวคิด และใช้ชีวิตอย่างไรคะ ?

      ก่อนบวชหลวงพี่ก็เป็นเด็กทั่วๆไปที่อยู่ในสังคมที่ต้องแข่งขัน มีความใฝ่สูง 
แต่ก็เป็นความใฝ่สูงในทางที่ดี เคยมีความคิดว่าอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
เพื่อจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง เนื่องจากโยมพ่อโยมแม่ส่งให้เรียนในโรงเรียนประจำ
ตั้งแต่ ป.1ถึง ม.6 (รร.ขอนแก่นวิทยายน) 
และมีโอกาสเรียนอยู่ในห้องเรียนห้อง king มาตลอด ผลการเรียนค่อนข้างดี 
มักจะสอบได้เป็นลำดับที่ต้นๆของโรงเรียน รู้สึกว่าเราจะต้องเป็นที่ 1 
รู้สึกว่าเราต้องแข่งขันตลอดเวลา ตอนนั้นก็คิดเหมือนคนทั่วๆไปว่า 
เรียนจบแล้วจะต้องเป็นหมอบ้าง เป็นนายพลทหาร นายพลตำรวจบ้าง 
จะต้องอยู่ในจุดที่สูงสุดของสังคมเพื่อสร้างเกียรติประวัติให้กับครอบครัวและวงศ์ตระกูล


อะไรทำให้หลวงพี่สนใจศึกษาธรรมะ/พระพุทธศาสนาคะ ?

          ตอนเรียนอยู่ชั้น ป.5 มีพระอาจารย์ชื่อพระครูสมุห์ธีรวัฒน์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติธรรมเวฬุวัน (เป็นศูนย์สาขาวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) 
ได้มาสอนการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ที่โรงเรียน พอได้เดินจงกรม นั่งสมาธิ 
ในตอนนั้นก็รู้สึกว่า ใจมันสบาย มันมีความสุข เลยเกิดความรู้สึกว่าอยากจะไปไปปฏิบัติธรรมต่อ 
เลยให้พ่อกับแม่ พาไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเวฬุวัน และอยู่ปฏิบัติธรรมที่นั้น 
พอไปครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจในบรรยากาศและสถานที่ที่สงบ และแนวทางการปฏิบัติที่เคร่งครัด 
ทำให้เกิดติดใจ และไปปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ 3 วันบ้าง 7 วันบ้าง 
ตามช่วงเวลาที่ว่างและมีโอกาส อย่างสม่ำเสมอ
          พอได้มีโอกาสได้มาเจอธรรมะ ซึ่งก็จะเน้นไปทางการปฏิบัติ 
ก็รู้สึกว่า ชีวิตของเราได้เปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้น จากเป็นคนพูดจาไม่เพราะก็พูดเพราะ 
จากเป็นเด็กขี้เกียจก็ขยันมากขึ้น จากเป็นคนใจร้อนก็เป็นคนใจเย็นขึ้น 
จากเป็นคนคิดมากก็เป็นคนไม่คิดมาก จากเป็นเด็กที่เคยเรียนซ้ำชั้น 
ก็กลายเป็นเด็กที่สอบได้ที่ 1 ของชั้นเรียน และที่ 1 ของโรงเรียนในเวลาต่อมา

อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการอุปสมบทของหลวงพี่คะ 

          มีความรู้สึกว่าตลอดที่เราได้ใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็กจนโต 
เหมือนเราจะมีความสุขและมีความภูมิใจกับความสำเร็จในสิ่งต่างๆมากมาย 
ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องของความรักแบบคนหนุ่มสาวทั่วไป 
แต่ความสุขและความสำเร็จที่กล่าวมานั้น 
มันเป็นความสุขและความสำเร็จที่เรารู้สึกว่ามันยังไม่ยั่งยืน 
เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ ไม่มีความมั่นคงแน่นอน

              จนกระทั่งได้มีโอกาสมาบวชและศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง 
ในโครงการอุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน รุ่นที่ 32 ที่วัดพระธรรมกาย 
ได้มีโอกาสได้ฟังธรรมะจากพระอาจารย์  
ได้อ่านและศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนามากมาย 
และได้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ทำให้เราเข้าใจและซาบซึ้งว่า ...
ชีวิตที่มีความสุขที่แท้จริงคือชีวิตสมณะ 
เพราะเป็นชีวิตที่เรียบง่าย มั่นคง มีความแน่นอน รู้สึกว่าเป็นชีวิตที่มีความสุขที่จีรังยั่งยืน

หลวงพี่มีความตั้งใจอย่างไร ในการดำรงเพศสมณะคะ ?

          ก็อยากจะบวชเพื่อขัดเขลากิเลสให้หลุดพ้นไป 
อยากบวชเพื่ออุทิศชีวิตให้กับพระพุทธศาสนา บวชเพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่และผู้มีพระคุณ 
บวชเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน บวชเพื่อช่วยนำศีลธรรมมาสั่งสอนให้กับญาติโยม 
อยากให้เขาดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และดำเนินชีวิตไปในทางที่ไม่ผิดพลาด 
จะได้ไม่ต้องทุกข์และเสียใจอีก

อยากให้หลวงพี่เล่าถึง...ภาระกิจหน้าที่ของพระ คือ อย่างไรค่ะ ?

          พระก็มีหน้าที่อยู่ 2 ภารกิจใหญ่ๆ คือ 
1.ทำประโยชน์ตน และ 
2.ทำประโยชน์ท่าน
          ประโยชน์ตน ก็คือ การตั้งใจที่จะทำเพื่อตัวเอง คือการหมั่นปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา 
เพื่อให้ตนหลุดพ้นจากกองทุกข์
          ประโยชน์ท่าน ก็คือ การช่วยเผยแผ่ธรรมะ ช่วยเหลือสังคม 
ให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และอยู่ได้ด้วยธรรมะ 
ตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า




ในทัศนะของหลวงพี่, พระพุทธศาสนา ในสังคมไทย/สังคมโลกปัจจุบันเป็นอย่างไรคะ 

          หลวงพี่มีความคิดเห็นว่า คนไทยในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่ 
ยังไม่ได้เข้ามาศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง 
บวชก็บวชแค่ 7 วันบ้าง 14 วันบ้าง 
ซึ่งถือว่าน้อยมากกับการที่จะได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนที่มีอีกมากมาย 
จึงทำให้ห่างเหินจากศาสนาพุทธไปมาก 
คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแต่เพียงในทะเบียนบ้าน 
เพราะดูจากภาพข่าว หรือแนวคิดตามสื่อสังคมออนไลน์ 
การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ก็พอจะทำให้รู้และเข้าใจว่า 
เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ 
หรือแม้แต่หลักในการตัดสินใจก็ใช้หลักของความคิดตัวเองเป็นหลักในการตัดสินความถูกผิด 
ทั้งที่จริงๆควรจะตัดสินตามหลักศีลธรรม

          แม้แต่การอยู่ร่วมกัน การปฏิบัติต่อกัน ระหว่างพระกับคนในสังคมปัจจุบัน 
ก็ผิดแปลกไปเมื่อเทียบกับสังคมในอดีตที่หลวงพี่ได้เคยสัมผัสและได้เห็น 
ในสมัยที่หลวงพี่ยังเด็กๆ ถ้าเห็นพระ ทุกคนจะให้เกียรติและให้ความเคารพกับพระมากๆ 
บางคนถึงกับนั่งคุกเข่ากับพื้น เพื่อแสดงความเคารพและต้อนรับพระ 
แต่ในปัจจุบันสังคมค่อนข้างจะให้ความเคารพน้อยลง
และมีแนวทางปฏิบัติต่อพระสงฆ์ยังไม่ค่อยจะถูกต้องและเหมาะสมนัก


หลวงพี่คิดว่า พระพุทธศาสนา/พระภิกษุ มีความจำเป็นในการปรับตัว
เพื่อยังประโยชน์ตน และยังประโยชน์ส่วนรวม อย่างไรไหมคะ ?

          หลวงพี่คิดว่าพระพุทธศาสนา/พระภิกษุ มีความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อประโยชน์ตน 
และประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้ทันกับยุคสังคมปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง 
โดยจะต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทันกับสังคมที่เปลี่ยนไป 
สิ่งที่ควรปรับเปลี่ยน คือ รูปแบบ วิธีการและแนวทางในการเผยแผ่ธรรมะ 
ที่จะต้องตามโลกให้ทัน เพราะสังคมปัจจุบันเจริญขึ้นมาก 
โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร จนทำให้ใจไปเกาะเกี่ยว
หรือให้ความสำคัญกับเรื่องวัตถุมากกว่าจิตใจ 

               เราเป็นพระจึงต้องมีหน้าที่ไปดึงพวกเขากลับมาให้ความสำคัญ
กับเรื่องของจิตใจมากขึ้น 
โดยใช้รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับคนในยุคปัจจุบัน 
จึงจะดึงเขากลับมาได้ ถ้าไม่ใช้วิธีนี้เขาก็จะไม่สนใจ พอยิ่งไม่สนใจ เขาก็ไม่ปฏิบัติ 
ก็ยิ่งจะทำให้สังคมแย่ลงเรื่อยๆ เพราะคนขาดศีลธรรม
          แต่ในขณะที่พระต้องปรับตัวไปให้ทันกับสังคม พระภิกษุเองก็ต้องฝึกตัว
และปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตที่ถูกต้องตามหลักพระวินัยอย่างเคร่งครัด 
กล่าวง่ายๆคือ หลังต้องอิงต้นโพธิ์  ต้องปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา 
ทำหน้าที่ที่แท้จริงของการออกบวชควบคู่กันไปด้วย


โลก ณ วันนี้ เป็นโลกแห่งเทคโนโลยีในทุกด้าน หลวงพี่คิดว่า
พระพุทธศาสนา ควรนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาใช้เพื่องานสอนศีลธรรม 
หรือไม่/อย่างไร ไหมคะ 

          หลวงพี่คิดว่า พระมีความจำเป็นที่จะต้องนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาใช้
เพื่อสอนศีลธรรม เพราะการที่จะพูดกับคนยุคใหม่ก็ต้องคุยกับเขาให้รู้เรื่อง 
ถ้าคุยไม่รู้เรื่องก็สื่อสารกันไม่เข้าใจ 
เหมือนเราจะไปประเทศเยอรมัน ถ้าหากเราไม่ฝึกพูดภาษาเยอรมัน 
เราก็คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง 
หรือจะให้เขาหัดพูดภาษาของเราก็คงเป็นไปได้ยาก 
ฉันใดก็ฉันนั้น 
การจะสอนศีลธรรมก็เช่นกัน 
ก็ต้องสอนด้วยวิธีการที่คนในยุคปัจจุบันเขาสื่อสารกันเข้าใจ 
ถึงจะสื่อสารกันรู้เรื่อง จะรอให้เขามาเข้าวัดมาคุยกับเรา คุยภาษาแบบพระก็คงเป็นไปได้ยาก 
ยิ่งเป็นเด็กวัยรุ่นยุคนี้แทบจะไม่สนใจพระพุทธศาสนาเลย 
มีสมาธิสั้น ปฏิบัติตัวกับพระก็ยังไม่ค่อยจะถูก

          ส่วนการที่อาจจะถูกมองว่า พระใช้คอมฯ ใช้โทรศัพท์ ดูเป็นการไม่เหมาะสม ไม่สมถะ 
หลวงพี่คิดว่าการจะมองว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม 
ไม่ควรตัดสินที่ความรู้สึกหรือกระแสของสังคม ต้องตัดสินจากพื้นฐานความจริงที่ว่า...
สิ่งที่ทำนั้น มันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษอะไรหรือไม่อย่างไร 
ถ้าหากพระใช้คอมฯ ใช้โทรศัพท์แล้วทำให้เป็นโทษแก่ตัวพระภิกษุเองและเกิดโทษต่อสังคม 
อันนี้ก็ตัดสินได้เลยว่าไม่เหมาะสม 
แต่ถ้าหากพระใช้คอมฯ ใช้โทรศัพท์แล้วไม่ทำให้เกิดโทษแก่ตัวพระภิกษุเอง 
และยังสามารถสร้างประโยชน์ในการเผยแผ่ธรรมะแก่สังคม 
ซึ่งเป็นหน้าที่หรือภารกิจของพระภิกษุที่พึงกระทำ เพื่อจะได้ไม่เป็นหนี้แก่ญาติโยม 
ก็ไม่ควรตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม 
ซึ่งสังคมจะต้องแยกแยะและมองประเด็นตรงนี้ให้ออก


ชีวิตในยุคบริโภคนิยม ผู้คนหันไปให้ค่านิยมทางวัตถุ ละเลยจิตใจ 
เมื่อชีวิตเป็นทุกข์ ก็หาทางออกไม่ถูก เป็นผลทำให้หลงทำผิด 
หลวงพี่มีทัศนะอย่างไร กับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันในสภาวะดังกล่าวคะ ?
หลวงพี่มีคำแนะนำอย่างไรไหมคะ?

          คิดว่าเป็นเรื่องปกตินะ ก่อนมาบวชหลวงพี่ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน 
ใช้ชีวิตและมีวิถีชีวิตที่มุ่งเน้นไปทางสังคมวัตถุมากกว่าจิตใจ 
แต่โชคดีที่ได้มาเจอพระพุทธศาสนา ได้มาศึกษาถึงแก่นแท้จริงๆ และพอศึกษาแล้ว 
ก็นำเอาหลักธรรมไปปฏิบัติด้วย ก็เลยทำให้เข้าใจอะไรๆมากขึ้น 
ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 

หลวงพี่คิดว่าถ้าหากคนในยุคปัจจุบันหันกลับมาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น 
เข้ามาศึกษาและปฏิบัติตามหลักศีลธรรมจริงๆ ปัญหาในชีวิตต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้น 
ต่อให้เกิดขึ้น ก็สามารถทำใจยอมรับ 
และสามารถหาทางออกและแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและถูกทาง

          คงถึงเวลาแล้วมั้งที่ทั้งคนและพระภิกษุต้องปรับตัวเข้าหากัน 
เพื่อจะได้ทันยุคทันสมัย ทันสังคม โดยความเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจต้องเจริญไปควบคู่กัน 
จะให้ค่านิยมทางวัตถุเจริญนำจิตใจไม่ได้ ซึ่งเราคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน 
ต้องเอาหลักธรรมและศีลธรรมมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้ได้


กราบขอบพระคุณ : พระมนต์ธร สิริธโร 
------------------------



23 ธันวาคม 2559
บันทึกบทสนทนา โดย  
บัว  อรุโณทัย 



          

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น