วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

พระพุทธศาสนา เกื้อกูลสังคมให้สงบสุข

จากที่หลวงพี่ได้บวชศึกษาธรรมะ ในพระพุทธศาสนา...,
พระพุทธศาสนา จะช่วยเกื้อกูลต่อชีวิตของผู้คน หรือ สังคมอย่างไร บ้างคะ ?


            หลวงพี่ก็คงตอบเรียงตามองค์ประกอบของศาสนาที่เคยกล่าวไว้ในบทก่อนๆ
เพื่อที่จะได้ชี้ให้เห็นว่า
ทุก ๆ องค์ประกอบของพระพุทธศาสนา มีประโยชน์เกื้อกูลต่อชีวิตผู้คน
ต่อสังคมอย่างไรบ้าง

            ๑. 
พระพุทธศาสนาได้ให้บุคคลต้นแบบที่ดีเยี่ยมที่สุดบุคคลหนึ่ง ก็คือ
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
และเป็นกำลังใจในการทำความดีของผู้คนในสังคม 

เดิมทีพระพุทธเจ้าก็คือคนที่มีกิเลสอย่างพวกเรา
ในแต่ละชาติของพระโพธิสัตว์ ก็เคยทำผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วน
แต่พระองค์มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำความดี
แม้เคยทำผิดก็คิดปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น 
หลวงพี่คิดว่า เรื่องราวของพระพุทธเจ้าจะเป็นกำลังใจในการทำความดี
ให้กับทุกคนในสังคม แม้กระทั่งผู้ที่เคยทำผิด เคยต้องโทษมาก็ตาม

            ๒. 
คำสอนในพระพุทธศาสนาล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้ง ๓ ระดับ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว  หลวงพี่คิดว่า แค่เพียงคำสอนเพื่อเป้าหมายชีวิตในชาตินี้
อย่างเช่น ศีล ๕ หรือว่า หลักทิศ ๖ ฯลฯ
ก็มากพอที่จะทำให้เกิดความสงบสุขในสังคมได้

หลักธรรมเหล่านี้จะช่วยลดการเบียดเบียนทำร้ายกันในสังคม
และช่วยให้ผู้คนรู้จักหน้าที่ของตนต่อบุคคลรอบข้าง
เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

            ๓. 
พระภิกษุ สามเณร ตลอดถึงแม่ชีในพระพุทธศาสนา
ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรคุณภาพของสังคม
ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นครูสอนศีลธรรม

เป็นปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ ให้กับชุมชนมาโดยตลอด

            ๔. 
วัดวาอารามต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา
นอกจากจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านในชุมชนแล้ว
ยังทำหน้าที่เป็นศาลาประชาคมให้ชาวบ้านใช้เป็นที่ประชุม
ทำหน้าที่เป็นโรงเรียน เป็นห้องสมุดที่คอยให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม

แก่ผู้คนในชุมชน และทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่จะคอยรักษางานพุทธศิลป์อันล้ำค่า
ซึ่งบรรพบุรุษได้รักษาไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานสืบต่อกันมา

            ๕. 
พิธีกรรมทางศาสนา ได้ทำหน้าที่เป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์
เป็นเครื่องร้อยรวมจิตใจของคนในสังคมทุกยุค ทุกสมัย
จนกลายเป็นขนบธรรมเนียม
ประเพณี และวัฒนธรรมของสังคม


            เพราะว่า พระพุทธศาสนาได้ให้คุณประโยชน์ต่อชีวิตผู้คน 
ต่อสังคมมากมายถึงเพียงนี้  
บรรพบุรุษของพวกเราจึงได้พร้อมใจกันยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา
เป็นศาสนาประจำชาติไทยตลอดมานั่นเอง

ฐานวีโร  ภิกขุ
--------------------------------


บันทึกมาบอกเล่า โดย  บัว  อรุโณทัย
28 มกราคม 2560


วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

หลวงพี่มหา...เล่าเรื่องวัดพระธรรมกาย ฉบับ ตอบคำถาม

กระแสโดยทั่วไป...มองว่า วัดพระธรรมกาย มีลักษณะที่แตกต่างซึ่งไม่เป็นที่คุ้นเคยของผู้คน
ขอความกรุณาหลวงพี่ช่วยให้คำอธิบายให้เข้าใจสักหน่อยค่ะ


...
เวลาที่หลวงพี่ต้องตอบข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับวัดให้นิสิต นักศึกษา
หรือครูอาจารย์ฟัง  หลวงพี่จะขอตอบเป็นประเด็น
เรียงตามองค์ประกอบของศาสนาในเชิงวิชาการ
ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก ๆ ๕ อย่าง คือ ...
1.ศาสดา
2.ศาสนธรรม
3.ศาสนบุคคล (บางแห่งแยกเป็นศาสนิกชนด้วย)
4.ศาสนสถาน (รวมถึงศาสนวัตถุและสัญลักษณ์ทางศาสนา) และ 
5.ศาสนพิธี 
เพื่อไม่ให้สับสนประเด็น
และเห็นภาพรวมของวัดในเชิงองค์ประกอบทางศาสนาได้อย่างชัดเจน

            ๑. ศาสดา

            หลาย ๆ ท่านที่ฟังข่าวคราวเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายจากสื่อต่าง ๆ อาจจะคิดว่า
หลวงพ่อธัมมชโยไม่ให้ความเคารพในพระพุทธเจ้า ตั้งตนเป็นเจ้าลัทธิ เป็นศาสดาเสมอกับพระพุทธเจ้า ฯลฯ  หลวงพี่อยากจะให้ข้อสังเกตในเรื่องนี้ไว้ ๓ ประเด็นนะ
                        ๑) ที่มหาธรรมกายเจดีย์ ตรงที่เห็นเป็นสีทอง ๆ นั้น เป็นพระพุทธรูปทั้งหมดจำนวน ๓ แสนองค์ ภายในเจดีย์บรรจุพระพุทธรูปอีก ๗ แสนองค์ รวมเป็น ๑ ล้านองค์
ซึ่งพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนี้ถูกเคลือบผิวด้วยประจุทองคำ 
นอกจากนี้ ในเจดีย์ยังมีพระประธาน ขนาดหน้าตัก ๔.๕ เมตร ซึ่งหล่อด้วยเงิน
มีน้ำหนักประมาณ ๑๔ ตัน
ถามว่า ถ้าไม่เคารพพระพุทธเจ้า
จะสร้างพระพุทธรูปเยอะขนาดนี้ไหม ?
จะใช้วัสดุที่สูงค่ามาทำไหม ?


ยิ่งไปกว่านั้น ทางวัดยังจัดให้มีโครงการบูชาพระเจดีย์
ให้พระเณร และญาติโยมได้มากราบไหว้บูชามหาธรรมกายเจดีย์ทุกวัน
วันละ ๒ ครั้ง เช้า – เย็น 
สิ่งเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงความเคารพในพระพุทธเจ้า
ในพระรัตนตรัยของหลวงพ่อ ของชาววัดพระธรรมกายหรือ
?

                        ๒) ในงานพุทธศิลป์ของทางวัดพระธรรมกาย
ไม่ว่าจะเป็นงานปั้นพระพุทธรูป หรือว่าภาพวาดพุทธประวัติ
หลวงพ่อธัมมชโยจะใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะมหาบุรุษ
ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก 
ท่านจะพยายามให้ปั้น หรือวาดให้ตรงกับลักษณะมหาบุรุษให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

ตอนเด็ก ๆ หลวงพี่เคยคิดนะ ในคัมภีร์บอกว่า ...
พระพุทธเจ้ามีพระรูปโฉมงดงาม เป็นคนที่หล่อที่สุดในภพสามก็ว่าได้ 
แต่พอไปไหว้พระตามวัดต่าง ๆ ก็เกิดความคิดว่า ถ้าให้เราหน้าตาหล่อแบบพระพุทธรูป
หรือภาพพุทธประวัติตามฝาผนังที่เราเคยเห็น เราจะเอาไหม 

แต่พอมาเห็นพระประธานในโบสถ์วัดพระธรรมกาย
หรือภาพวาดพระพุทธเจ้าในปกหนังสือสวดมนต์ของทางวัด หลวงพี่รู้สึกว่าใช่
ที่คัมภีร์บอกว่าพระพุทธเจ้าของพวกเรารูปงาม ต้องประมาณนี้แหละ 
พวกเราคิดว่า คนที่ให้ความสำคัญในการปั้นพระ ในงานเขียนพุทธประวัติมากขนาดนี้
ทุ่มเทปั้นแล้วปั้นอีก วาดแล้ววาดอีก เพื่อให้ได้พระพุทธรูปที่งดงามมาให้ลูกศิษย์ได้กราบ
ได้ภาพพุทธประวัติที่สวยงามมาให้ลูกศิษย์ได้ศึกษา
จะมีความเคารพในพระพุทธเจ้าขนาดไหน

                        ๓) ในการเทศน์สอนของหลวงพ่อ ที่ได้เล่าไปข้างต้นว่า
ท่านลงเทศน์สอนญาติโยมแทบทุกคืน  ท่านก็มักจะเล่าพุทธประวัติ
หรือเรื่องราวการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์อยู่บ่อยครั้ง 
โดยที่ท่านจะศึกษาเรื่องราวเป็นอย่างดีก่อนที่จะเทศน์สอน 
ยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่ท่านเทศน์สอน ท่านจะให้พระมหา ป.ธ. ๙ มานั่งฟังด้วยทุกครั้ง
เพื่อเป็นการตรวจทานเนื้อหาขณะที่ท่านเทศน์อีกชั้นหนึ่งด้วย 
ท่านให้ความเคารพในการแสดงธรรม
โดยเฉพาะเรื่องราวของพระบรมศาสดามากขนาดนี้ทีเดียว

            ปัญหาที่หลาย ๆ ท่านเข้าใจประเด็นนี้ผิดไป !
หลวงพี่คิดว่าอยู่ที่การฟังเนื้อหาที่หลวงพ่อเทศน์สอนนี่แหละ 
เนื่องจากหลวงพ่อท่านมักจะใช้คำพูดง่าย ๆ ในการสอน
เพื่อให้คนฟังซึ่งมีทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ ฯลฯ ฟังแล้วเข้าใจง่าย 
หากได้ฟังเพียงบางช่วงบางตอน  ก็อาจทำให้ไม่เข้าใจเนื้อความทั้งหมด 
หลวงพี่อยากจะขอให้ลองฟังเนื้อหาที่หลวงพ่อเทศน์ให้มากขึ้น
ลองหาฟังดู,
แล้วฟังอย่างตั้งใจ
ฟังให้ครบทุกช่วงทุกตอน น่าจะแก้ไขความเข้าใจผิดได้ไม่ยากนะ

            ๒. ศาสนธรรม

            หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาว่า วัดพระธรรมกายสอนผิด
บิดเบือนพระไตรปิฎก สอนให้ทำบุญเพื่อหวังสวรรค์ ฯลฯ 
ถ้าจะให้ตอบทั้งหมด ก็คงจำแนกประเด็นได้ไม่หวาดไม่ไหว
แต่หลวงพี่อยากจะให้ข้อสังเกตโดยรวม ๆ เป็น ๓ ประเด็น

                        ๑) ที่เราคุยกันว่า วัดพระธรรมกายสอนผิด บิดเบือนจากพระไตรปิฎกน่ะ
เคยอ่านพระไตรปิฎกบ้างไหม ?  

ไม่ใช่หลวงพี่จะว่าพวกเรานะ ... แต่เป็นเรื่องที่หลวงพี่เจอกับตัวเอง
และเป็นจุดเริ่มต้นให้หลวงพี่เริ่มศึกษาพระไตรปิฎก
และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง 
เรื่องมันก็มีอยู่ว่า ...

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย หลวงพี่จะชอบอ่านกระทู้ในห้องศาสนาของเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง
มีอยู่วันหนึ่ง ก็มีคนตั้งกระทู้ในทำนองว่า จับผิดธรรมกาย แอบบิดเบือนพระไตรปิฎก
ซึ่งมีรายละเอียดประมาณว่า ...
ในเว็บไซต์ของวัดพระธรรมกายมีให้บริการพระไตรปิฎกออนไลน์
ซึ่งพบว่า ข้อความในพระไตรปิฎกออนไลน์นั้น
ไม่ตรงกับพระไตรปิฎกออนไลน์ในเว็บไซต์อีก ๒ แห่ง
(ซึ่ง ๒ เว็บนี้มีข้อความตรงกัน มีเว็บของวัดพระธรรมกายเป็นเว็บที่ ๓ ที่ไม่ตรงกับชาวบ้าน)  เขาก็เอาข้อความมาแสดงเปรียบเทียบกัน ก็มีคนมาแสดงความเห็นในเชิงด่าว่าวัดบ้าง
ยินดีปรีดาที่จับผิดวัดได้บ้าง เป็นร้อย สองร้อยความเห็น 
แล้วก็มีความเห็นหนึ่งโผล่มาบอกว่า...
พระไตรปิฎกออนไลน์ในเว็บของวัดเป็นของฉบับมหามกุฏฯ
(ฉบับ มมร. พิมพ์พระไตรปิฎกรวมกับอรรถกถา ชุดหนึ่ง ๆ มี ๙๑ เล่ม)
ส่วนอีก ๒ เว็บเป็นของฉบับมหาจุฬาฯ (ฉบับ มจร. ชุดละ ๔๕ เล่ม)
ซึ่งในฉบับพิมพ์ก็มีข้อความไม่ตรงกันอยู่แล้ว 
รู้ไหมผลเป็นอย่างไร ...
คนที่เข้ามาด่าในตอนต้น ๆ ก็ อ๋อ อย่างนั้นก็แล้วไป 
!

หลวงพี่จึงได้ข้อคิดว่า ถ้าเราจะกล่าวหาใครว่าบิดเบือนพระไตรปิฎก
เราเองก็ต้องรู้ก่อนว่าในพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างไร 
เราจะมาบอกว่า คนอื่นสอนผิด โดยที่เราเองก็ไม่รู้ว่า ที่ถูกเป็นอย่างไร
เป็นเรื่องที่สมควรไหม
? 
อยากให้ข้อคิดอย่างนี้เป็นเบื้องต้นก่อนนะ

                        ๒) ส่วนประเด็นคำสอนเรื่องอื่น ๆ นั้น  เฉพาะที่หลวงพี่เคยถูกถามนะ
หลวงพี่กล้ายืนยันว่า ทางวัดไม่ได้สอนผิดไปจากที่มีในพระไตรปิฎก 
แต่ที่ทำให้เข้าใจผิดกัน หรือเกิดความสงสัยอยู่บ้างนั้น 
ในมุมมองของหลวงพี่คิดว่า เป็นเพราะพวกเราพูดถึงตัวหลักธรรมคำสอน
โดยไม่ได้พิจารณาถึงจุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ของคำสอนนั้น ๆ มาประกอบด้วย

                        นพระพุทธศาสนา ได้สอนเรื่องประโยชน์ ๓ หรือเป้าหมายชีวิต ๓ ระดับ
ซึ่งประกอบไปด้วย...
ประโยชน์ในชาตินี้ คือ มีเป้าหมายเป็นไปเพื่อความสุขในภพชาตินี้
ประโยชน์ในชาติหน้า คือ มีเป้าหมายเพื่อให้ได้เกิดใหม่ในสุคติภูมิ
และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ มีเป้าหมายเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน 


คำสอนในพระพุทธศาสนาก็ย่อมเป็นไปเพื่อเป้าหมาย ๓ ระดับเหล่านี้ 

บางคำสอนก็เป็นไปเพื่อให้ได้รับความสุขในชาตินี้ เช่น ...
หลักธรรมสังคหวัตถุ ๔ ศีล ๕ ทิศ ๖ ฯลฯ
ผู้ที่อยากจะมีความสุขในชีวิตการงาน ครอบครัว ฯลฯ ในปัจจุบันชาติ
ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ 

บางคำสอนก็เป็นเรื่องภพภูมิต่าง ๆ สอนให้ละเว้นจากความชั่ว
จะได้ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ
และให้ตั้งใจทำความดีเพื่อให้ไปเกิดในสวรรค์ ยกตัวอย่างเช่น ...
เรื่องราวในคัมภีร์เปตวัตถุ ว่าด้วยเรื่องเปรตและบุรพกรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรต 
คัมภีร์วิมานวัตถุ ว่าด้วยเรื่องเทวดาในวิมานต่าง ๆ และบุรพกรรม ฯลฯ 
ผู้ที่ปฏิบัติตามก็ย่อมได้รับอานิสงส์ในสัมปรายภพ 

และบางคำสอนก็มุ่งเน้นในเรื่องมรรคผลนิพพาน เช่น ...
เรื่องการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ
ที่ปรากฏในคัมภีร์ชาดกและจริยาปิฎก 
เรื่องการสร้างบารมีของพระอรหันต์ ในคัมภีร์อปทาน ฯลฯ
ผู้ที่มุ่งหวังการบรรลุมรรคผลนิพพาน
ก็ให้น้อมนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติ อย่างนี้เป็นต้น

                        คราวนี้ ถ้าเราจับเอาประเด็นคำสอน... 
โดยมิได้คำนึงถึงเป้าหมาย ๓ ระดับที่ว่ามา จะเกิดอะไรขึ้น ...
หลวงพี่จะลองยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพนะ เช่น ...
คำสอนเรื่องการทำทาน เขาก็มักจะบอกว่า ...
วัดพระธรรมกายสอนให้ทำบุญมาก ๆ ทำบุญหมดตัว ฯลฯ
ต่างจากในพระสูตรที่สอนว่า ให้ทำทานแต่พอดี ไม่ให้กระทบตนเอง
ทำทานแล้วต้องไม่เดือดร้อน 
ถ้ายึดตามที่พระสูตรนี้ว่าไว้ แล้วเรื่องที่พระเวสสันดรบริจาคทรัพย์ต่าง ๆ จนหมด
เท่านั้นยังไม่พอ ยังบริจาคลูกเมียด้วย มันหมายความว่าอะไร 
นี่ไม่ใช่แค่เดือดร้อนตัวเองนะ เดือดร้อนถึงลูกเมียด้วย 
หรือว่า เรื่องการเอาสวรรค์มาล่อให้ทำบุญเยอะ ๆ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง 
ถ้าอย่างนั้นแล้ว เรื่องราวในคัมภีร์วิมานวัตถุ ที่เล่าว่าถวายทานด้วยสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว
จะทำให้มีทิพยสมบัติ มีวิมานในสวรรค์แบบนั้นแบบนี้ เช่น
ตอนเป็นมนุษย์ถวายแกงปู  พอตายไป ก็มีประติมากรรมปูทองคำอยู่หน้าทิพยวิมาน 
อย่างนี้แปลว่าอะไร 
จะบอกว่า คัมภีร์วิมานวัตถุสอนผิดใช่ไหม
หรือว่าคำสอนในพระไตรปิฎกขัดแย้งกันเองเสียแล้ว

                        แต่ถ้ามองในมิติของเป้าหมายชีวิต ๓ ระดับด้วย เราจะเข้าใจมากขึ้น 
บางคนทำทานเพียงหวังความสุขในชาตินี้ มองว่าเป็นการแบ่งปันกัน ช่วยเหลือกัน
ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ถ้ามีเป้าหมายในระดับนี้
พระพุทธศาสนาก็สอนให้ทำทานโดยที่ไม่ให้ตนเองต้องเดือดร้อน
เช่น หลักสังคหวัตถุ ๔ 
บางคนทำทานเพื่อเป้าหมายในสัมปรายภพ ตายแล้วให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ 
พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนเรื่องทานในอีกแง่มุมหนึ่ง
อย่างเช่นในทานสูตรแห่งคัมภีร์อังคุตตรนิกาย จะกล่าวถึงว่า ทำทานด้วยเจตนาแบบใด
จึงจะทำให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นใด เป็นต้น 
แต่ถ้าเป็นการทำทานในระดับสูงสุด
พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนอย่างเรื่องพระเวสสันดรนั่นแหละ 

หลวงพี่คิดว่า ถ้าพวกเราศึกษาหลักธรรมคำสอน โดยพิจารณาบริบทแวดล้อม
หรือดูจุดมุ่งหมายของคำสอนนั้น ๆ ประกอบด้วย ก็จะช่วยลดความเข้าใจผิด
ลดความสงสัยในคำสอนของวัดพระธรรมกายในประเด็นต่างๆ ลงไปได้มาก 

            สำหรับคำสอนในเรื่องอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกัน 
อยากให้พวกเราพิจารณาก่อนว่า คำสอนของวัดพระธรรมกายเรื่องนั้น ๆ
เป็นไปเพื่อเป้าหมายระดับใด  เวลาจะตัดสินถูกผิด
ก็ให้เอาคำสอนในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับเรื่องนั้น ที่เป็นไปเพื่อเป้าหมายระดับเดียวกัน
มาเป็นตัวพิจารณาตัดสิน อย่างนี้จึงจะได้คำตอบที่ถูกต้อง 
ถ้ามัวแต่เอาคำสอน ซึ่งต่างฝ่ายก็อ้างว่ามีอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งนั้น
แต่เป็นไปเพื่อเป้าหมายคนละระดับ มาพิจารณาร่วมกัน
ก็จะเป็นปัญหาให้ถกเถียงกันอย่างทุกวันนี้แหละ

            ๓. ศาสนบุคคล

            เรื่องนี้คงไม่มีประเด็นที่เป็นปัญหาอะไร
เพราะแม้แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่ชอบวัดพระธรรมกาย ก็ยังยอมรับว่า
บุคลากรของวัดพระธรรมกายใช้ได้ ค่อนข้างมีคุณภาพ 
แต่หลวงพี่อยากจะพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับศาสนิก
หรือญาติโยมที่มาทำบุญวัดพระธรรมกายสักหน่อย เนื่องจากมักจะมีประเด็นว่า
คนที่มาทำบุญที่วัดพระธรรมกาย หลาย ๆ คนต้องประสบปัญหาครอบครัว
ทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง มีปัญหาเรื่องทรัพย์สินกับญาติพี่น้องบ้าง
ทางวัดจะอธิบายประเด็นนี้อย่างไร
            เวลาที่คุณครูถามหลวงพี่ในประเด็นนี้ หลวงพี่จะตอบด้วยการอุปมา สมมติว่า
คุณครูสอนเด็กนักเรียน ห้องหนึ่งก็ประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน ถามว่า
เด็กทุกคนเข้าใจที่คุณครูสอนเหมือนกันทั้งหมดไหม ก็ไม่ใช่
มันจึงมีเกรดตั้งแต่ ๔ ถึง ๐ นั่นแหละ  ถ้ามีเด็กติด ๐ ในห้องสัก ๒ – ๓ คน
แล้วมาเหมารวมกล่าวหาว่า คุณครูสอนแย่มาก ไม่ได้เรื่องเลย
อย่างนี้ยุติธรรมกับคุณครูไหม 

กรณีของญาติโยมที่มาวัดพระธรรมกายก็คล้าย ๆ กันนะ 
หลวงพี่ก็ไม่ทราบว่า ญาติโยมแต่ละท่านฟังธรรมแล้ว
จะเข้าใจอย่างที่หลวงพ่อ หรือพระอาจารย์ต้องการสื่อสารมากน้อยแค่ไหน 
แต่หลวงพี่ก็มั่นใจว่า คงไม่ได้เป็นแบบนี้กับทุกคน ทุกครอบครัว 
พวกเราก็คงเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวของผู้ที่มาทำบุญที่วัดพระธรรมกายแล้ว
ชีวิตดีขึ้น ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น  ก็อยากจะให้ลองศึกษากรณีของคนเหล่านี้ดูบ้าง
หลวงพี่คิดว่า ถ้าเราได้สอบถามทั้งนักเรียนเกรด ๐ ทั้งนักเรียนเกรด ๔ ว่า ...
คุณครูสอนอะไรบ้าง จะทำให้เราได้ข้อสรุปชัดเจนขึ้นว่า คุณครูสอนดีหรือไม่ดี อย่างไร

            ๔. ศาสนสถานและศาสนวัตถุ

            ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนสถานของวัดพระธรรมกาย
ส่วนใหญ่จะมีประเด็นหลัก ๆ อยู่ ๒ ประเด็น คือ ...
เรื่องรูปทรงที่อาจจะรู้สึกว่าแตกต่างจากวัดอื่น ๆ ตรงนี้รวมถึงศาสนวัตถุ
เช่น พระพุทธรูปด้วย  กับเรื่องขนาดที่พวกเราอาจจะคิดกันว่า วัดต้องดูสมถะ
คือเล็ก ๆ ไม่ใช่สร้างเสียใหญ่โตเหมือนวัดพระธรรมกาย
            ๑. ประเด็นเรื่องรูปทรง  ต้องบอกก่อนว่า จริง ๆ แล้ว รูปทรงของศาสนสถาน
หรือศาสนวัตถุ ไม่ได้มีกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ในคัมภีร์ว่า จะต้องสร้างโบสถ์ทรงนี้
พระพุทธรูปต้องรูปร่างแบบนี้เท่านั้น  เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้
ล้วนขึ้นอยู่กับนายช่างผู้สร้าง ซึ่งก็จะเป็นไปตามศิลปะในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละยุคสมัย 

ในทางวิชาการ เขาจึงเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าพุทธศิลป์
ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธรูป พวกเราคงเคยได้ยินว่า ...
พระพุทธรูปองค์นี้ ศิลปะสุโขทัย ศิลปะทวารวดี ศิลปะเชียงแสน ฯลฯ
ซึ่งแน่นอนว่า รูปร่างย่อมไม่เหมือนกัน เขาจึงสามารถจำแนกความแตกต่างได้
หรือว่า เจดีย์ พวกเราคิดว่า พระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม พระบรมธาตุไชยา ฯลฯ
รูปทรงเหมือนกันไหมล่ะ
ยิ่งไปกว่านั้น รูปทรงเจดีย์ของบ้านเราก็ไม่ค่อยเหมือนกับเจดีย์โบราณที่อินเดียนะ
รู้กันบ้างไหม ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า ...
ไทยเรารับเอาพระพุทธศาสนามาจากลังกาอีกทอดหนึ่ง
รูปทรงเจดีย์ของไทยจึงค่อนไปทางลังกา
ผสมผสานกับศิลปะในดินแดนสุวรรณภูมิแต่ละยุค 

เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นหลวงพี่สรุปได้ว่า ...
ไม่ใช่ว่าศาสนสถานและศาสนวัตถุของวัดพระธรรมกายแตกต่างจากวัดอื่น ๆ
แต่ว่า ศาสนสถาน ศาสนวัตถุของแต่ละวัด ล้วนแล้วแต่มีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน
ขึ้นอยู่กับศิลปะในแต่ละยุคสมัย ในแต่ละพื้นที่ต่างหาก


            ในกรณีของวัดพระธรรมกายก็เช่นเดียวกัน
แต่ละอาคาร แต่ละงานพุทธศิลป์ ล้วนมีแนวคิด มีที่มาที่ไปทั้งสิ้น 
อย่างเช่น โบสถ์  เคยมีหลายท่านบอกว่าเหมือนโบสถ์คริสต์ 
ถ้าพวกเราเคยเห็นโบสถ์คริสต์ก็คงจะงงนะ ว่าเหมือนตรงไหน 
เพราะจริง ๆ แล้ว แบบของโบสถ์วัดพระธรรมกาย
คือแบบเดียวกันกับพระอุโบสถของวัดเบญจมบพิตร
แต่ตัดพวกใบระกา หางหงส์ ฯลฯ ออกไป เพื่อที่จะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย
และให้ง่ายต่อการซ่อมแซม 
แนวคิดหลัก ๆ ในการก่อสร้างของวัดพระธรรมกาย หลวงพ่อท่านให้ไว้ว่า ...
ประหยัดสุด ประโยชน์สูง 
อาคารอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน  ถ้าจะให้ลงในรายละเอียด
ก็คงต้องมาชมวัดกันสักรอบอย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น

            ๒. ประเด็นเรื่องขนาด  พวกเราอาจจะไม่ทราบกันว่า จริง ๆ แล้ว
ในพระวินัยปิฎกมีการกำหนดขนาดเขตสีมาเอาไว้นะ
ท่านบอกว่า เขตสีมานั้น อย่างเล็กที่สุดต้องจุพระได้ ๒๑ รูป
คือ มีพื้นที่พอที่จะให้พระสงฆ์นั่งทำสังฆกรรมได้  อย่างใหญ่ที่สุด ไม่เกิน ๓ โยชน์

ไม่อย่างนั้น เวลาทำสังฆกรรมจะไม่ทั่วถึงกัน 
โยชน์หนึ่งคิดเป็นระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร ๓ โยชน์ก็ ๔๘ กิโลเมตร
ซึ่งถ้าตีความแบบตรงตัว เขตสีมาก็จะหมายถึงเขตโบสถ์นั่นเอง 
แต่ถ้าเทียบในบริบทปัจจุบันก็น่าจะหมายถึงเขตของวัด 
เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นคงจะพอได้ข้อสรุปแล้วว่า
ขนาดของอาคารต่าง ๆ ของวัดพระธรรมกาย
ไม่ได้ใหญ่เกินกว่าที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดเอาไว้แต่อย่างใด 
ยืนยันกันด้วยพระวินัยอย่างนี้ก่อนนะ


            หลวงพี่อยากจะเล่าเสริมสักนิดหนึ่ง เพื่อเป็นข้อคิดให้กับพวกเรา 
ถ้าพวกเราได้ศึกษาวัดต่าง ๆ ในสมัยพุทธกาลที่ปรากฏในคัมภีร์ จะพบว่า...
วัดในสมัยพุทธกาล ล้วนแล้วแต่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ทั้งนั้น

แต่ใหญ่ในระดับที่เหมาะสมกับจำนวนพระภิกษุที่อยู่ กับจำนวนญาติโยมที่มาฟังธรรม 

หลวงพี่จะขอยกตัวอย่างก็แล้วกัน พวกเรามักจะฟังกันมาว่า ...
วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา คือ วัดเวฬุวัน
หรือสวนป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารถวายแด่พระพุทธเจ้า 
แล้วก่อนหน้านั้น ทราบไหมว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน
ตอนที่พระเจ้าพิมพิสารได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าครั้งแรก
ทรงฟังที่สวนตาลหนุ่มชื่อว่า ลัฏฐิวัน พอจำกันได้ไหม 
ตอนนั้นในลัฏฐิวันมีใครอยู่บ้าง พระพุทธเจ้า ๑
พระอุรุเวลกัสสปะและบริวารอีก ๑
,๐๐๐ องค์
รวมฝ่ายพระก็ ๑
,๐๐๑ องค์ 
ฝ่ายญาติโยมล่ะ พระเจ้าพิมพิสารมาฟังธรรมพร้อมด้วยบริวาร ๑๒ นหุต 
นหุต แปลว่า หมื่น  ๑๒ นหุต ก็แสนสอง 

ถ้าเราบอกว่า วัดเวฬุวัน คือวัดแห่งแรก 
วัดลัฏฐิวันก็คงเป็นได้เพียงวัดชั่วคราวเท่านั้น 
วัดชั่วคราวในพระพุทธศาสนา จุพระได้พันองค์ จุโยมมาฟังเทศน์ได้หลักแสนคนนะ 
ถามว่าใหญ่ไหม ?

หลวงพี่ว่าใหญ่พอเหมาะสมกับจำนวนพระสงฆ์ในขณะนั้น 
แล้วพวกเราคิดว่า วัดเวฬุวันกับลัฏฐิวัน วัดไหนจะใหญ่กว่ากัน 
คิดว่าพระเจ้าพิมพิสารจะถวายที่ให้มีขนาดเล็กลงหรือ 
ถ้าพวกเรายังพอจำพุทธประวัติกันได้
ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเวฬุวันไปโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์
มีพระสงฆ์ตามเสด็จจำนวน ๒ หมื่นรูปนะ 
แสดงว่า วัดเวฬุวันจุพระได้อย่างน้อย ๒ หมื่นนะ 
นี่ยังไม่ได้พูดถึงวัดอื่น ๆ เลย
เอาแค่วัดแรก ๆ ในขณะเพิ่งเริ่มประกาศพระศาสนา
พระสงฆ์ยังมีไม่มากนัก ญาติโยมยังไม่ค่อยรู้จักพระพุทธศาสนาเท่าไรนัก ยังใหญ่ขนาดนี้ 
แล้ววัดที่สร้างต่อ ๆ มา ซึ่งมีจำนวนพระสงฆ์เพิ่มมากขึ้น
ญาติโยมมาฟังธรรมมากขึ้น อย่างวัดพระเชตวัน จะใหญ่ขนาดไหน

            ที่เล่าตรงนี้ ก็เพราะอยากจะย้ำกับพวกเราอีกครั้งว่า ...
แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกายนั้น
พระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสองได้ยึดตามพระวินัย
ตามหลักคิดในการสร้างวัดในสมัยพุทธกาลที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ 
และก็อยากจะย้ำให้พวกเราตั้งใจศึกษาพระไตรปิฎกด้วยตนเอง
อย่าเพิ่งเชื่อตามที่เขาเล่าต่อ ๆ กันมา ซึ่งอาจจะทำให้ได้ข้อมูลผิด ๆ ไปนะ 


เอาเข้าจริง ๆ วัดพระธรรมกายก็เพียงแค่สร้างให้มีขนาดพอที่จะรองรับจำนวนพระเณร
จำนวนญาติโยมที่มาวัดเท่านั้น 

ศาลาสำหรับฟังธรรมหลังแรก มีขนาดพอจุคนได้ ๕๐๐ คนเท่านั้นนะ
แต่ต่อมามีคนมาวัดเพิ่มขึ้น ก็ต้องขยับขยาย สร้างศาลาขนาดใหญ่ขึ้น จุได้ ๑ หมื่นคน
ก็ปรากฏว่า คนมาล้นศาลาอีก จึงต้องขยายต่อมาจนเป็นอาคารต่าง ๆ ในพื้นที่ ๒ พันไร่
ในปัจจุบัน  ไม่ใช่ว่าคิดจะสร้างให้ใหญ่โตโอฬาร เพื่ออวดความหรูหราแต่อย่างใด 

            ๕. ศาสนพิธี

            ประเด็นเรื่องศาสนพิธีก็คงคล้าย ๆ กับเรื่องศาสนสถาน 
หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกว่า พิธีกรรมของวัดพระธรรมกายแตกต่างไปจากวัดอื่น ๆ 
ตรงนี้ หลวงพี่ก็คงต้องตอบเหมือนกับเรื่องศาสนสถานว่า...
ศาสนพิธี ก็คือ พิธีกรรมในการทำบุญของพุทธศาสนิกชนในแต่ละพื้นที่
ซึ่งย่อมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม
และค่านิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น งานบวช
ถามว่า แต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ขั้นตอนพิธีกรรมงานบวชเหมือนกันไหม 
หรืออย่างงานทอดกฐินก็เหมือนกัน แต่ละวัดมีพิธีกรรมเหมือนกันไหม 
จริง ๆ แล้ว ๒ งานนี้ ทุกวัดควรจะจัดเหมือนกันทุกขั้นตอนนะ
เพราะเป็นสังฆกรรมที่มีกำหนดไว้ในพระวินัย 
แต่ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะเห็นว่า ...
แต่ละวัดก็จะมีขั้นตอนพิธีกรรมปลีกย่อยเพิ่มเติมเข้ามา
และแตกต่างกันไปตามความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น 
หลวงพี่ก็คงสรุปเหมือนเดิมว่า ไม่ใช่ว่าพิธีกรรมของวัดพระธรรมกายแตกต่างจากวัดอื่น 
แต่พิธีกรรมของแต่ละวัดแตกต่างกันอยู่แล้วต่างหาก

            สำหรับพิธีกรรมของทางวัดพระธรรมกายที่เป็นที่สงสัย
หรือวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก ก็คงจะเป็นพิธีบูชาข้าวพระ
ซึ่งเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยภัตตาหาร  ถามว่า พิธีกรรมในลักษณะนี้
วัดอื่น ๆ หรือที่อื่น ๆ มีจัดไหม  พวกเราเคยได้ยินชื่อพิธีถวายข้าวพระพุทธบ้างไหม 
เวลาที่เขาถวายภัตตาหารพระ เขาก็จะจัดสำรับอาหารไปวางไว้ที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา
แล้วกล่าวคำถวายว่า อิมัง สูปะพะยัญชะนะ ฯลฯ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ก่อนที่จะถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ต่อไป 

ดังนั้น พิธีบูชาข้าวพระที่วัดพระธรรมกายจัดเป็นประจำทุกเดือน
ก็ไม่ได้ผิดแผกไปแต่อย่างใด  นอกจากนี้นะ หลวงพี่เองรู้สึกชอบใจ
ที่วัดพระธรรมกายจัดสำรับภัตตาหารบูชาพระพุทธเจ้าอย่างประณีต
ซึ่งหลวงพี่คิดว่า เป็นเครื่องยืนยันถึงความเคารพในพระพุทธเจ้า
ของชาววัดพระธรรมกายได้ดีนะ


            ส่วนพิธีกรรมอื่น ๆ ที่เหลือของทางวัด ก็คงมิได้แตกต่างจากวัดอื่น ๆ
ในแง่หลักศาสนพิธี ไม่ว่าจะเป็นพิธีตักบาตร ถวายสังฆทาน
พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญต่าง ๆ แต่อาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อย
ซึ่งหลวงพี่เข้าใจว่า มีสาเหตุเนื่องด้วยระบบการจัดการสาธุชน
เพราะว่า ในแต่ละพิธีกรรมของทางวัด จะมีผู้มาร่วมงานค่อนข้างมาก
เมื่อเทียบกับวัดอื่น ๆ  ทำให้ต้องปรับรูปแบบระเบียบพิธีให้เหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น พิธีถวายสังฆทาน
หากเป็นวัดอื่น ๆ เวลาจัดที่นั่งรับรองให้กับคณะเจ้าภาพ ก็จะไม่ยุ่งยากอะไร
เพราะมีจำนวนไม่มากและรู้จักหน้าค่าตากันดี 
แต่ถ้าเป็นที่วัดพระธรรมกาย คณะเจ้าภาพมีเป็นจำนวนมาก
รูปแบบการจัดที่นั่งให้กับเจ้าภาพจึงแตกต่างจากวัดอื่น ๆ บ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากเจ้าภาพมีมาก ผู้ที่มาช่วยงานวัด มาช่วยต้อนรับเจ้าภาพ
ก็ยากที่จะรู้จักเจ้าภาพได้ครบทุกท่าน  ทางวัดจึงใช้โบว์สัญลักษณ์
เพื่อช่วยให้ผู้ที่ทำหน้าที่ต้อนรับ สามารถเชิญเจ้าภาพเข้าพื้นที่นั่งได้อย่างถูกต้อง
แม้ว่าจะไม่รู้จักหน้าตากันเลย โดยอาศัยดูจากโบว์สัญลักษณ์ที่เขาติดมานั่นเอง 
บางท่านก็เข้าใจผิด คิดไปว่าเป็นการแบ่งชนชั้นฐานะของคนทำบุญเสียอีก
ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของระบบการจัดการ
เพื่อให้สามารถประกอบพิธีกรรมได้สะดวก  

หรืออย่างพิธีเวียนเทียน 
หากเป็นวัดอื่น ๆ พวกเราก็คงจะเห็นภาพคนที่มาร่วมงานเดินเวียนประทักษิณ-
ร่วมกันทั้งหมด แต่ถ้าเป็นที่วัดพระธรรมกาย ซึ่งมีคนมาร่วมงานนับแสน
จะให้เดินเวียนเทียนร่วมกันทั้งหมด ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุ หรือพลัดหลงกันได้ง่าย
และอาจเกินเวลาไปมาก
ทางวัดจึงจัดให้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และสะดวกที่จะเดินทำพิธีจำนวนหนึ่ง
เป็นผู้แทนเดินเวียนประทักษิณ 
ส่วนท่านอื่น ๆ อย่างเช่น เด็กและผู้สูงอายุ ก็จะนั่งจุดโคมประทีปอยู่กับที่
เพื่อเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น และป้องกันการพลัดหลง
ประกอบพิธีกรรมเสร็จในเวลาอันสมควรนั่นเอง 
คิดว่าคงพอจะเห็นภาพ พอจะเข้าใจในประเด็นนี้กันแล้วนะ 

ฐานวีโร ภิกขุ 
-------------------------------


น่าจะพอช่วยให้เราได้เห็นภาพวัดพระธรรมกาย ได้ชัดขึ้นนะคะ


บันทึกเรื่องเล่ามาแบ่งปัน โดย   บัว  อรุโณทัย
24 มกราคม 2560







วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2560

ไตรสิกขา:หน้าที่พระ

ขอความกรุณาหลวงพี่เล่าให้ฟังสักหน่อยค่ะว่า...
ความเป็น “พระ” ... หลวงพี่เองต้องศึกษา และ ต้องฝึกฝนตัวเองอย่างไรบ้างคะ ?  
มีความยากอย่างไรไหม? หลวงพี่คิดยังไงคะ


            ขอเล่าตามตำรา ตามหลักการก่อนนะ  
สิ่งที่จะต้องศึกษาในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นโยมก็ตาม ท่านเรียกว่า ไตรสิกขา 
ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา  
ซึ่งถ้าเป็นพระภิกษุ ศีล ก็ได้แก่ สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ 
เป็นเครื่องควบคุมกายกับวาจา  
สมาธิก็เป็นเรื่องการควบคุมจิตใจให้สงบ  
ส่วนปัญญา ก็เป็นผลจากการฝึกฝนอบรมกาย วาจา และใจ 
ผ่านการรักษาศีลและเจริญภาวนามาเป็นอย่างดี จนเกิดปัญญาความรู้รอบ

            ที่นี้ในทางปฏิบัติ เอาจากชีวิตจริงของหลวงพี่ที่ได้มาบวชเป็นพระนะ  
หลวงพี่คิดว่า สมาธินี่แหละ เป็นแกนกลาง 
หรือเป็นจุดเชื่อมโยงหลักไตรสิกขาทั้ง ๓  เพราะว่า

                        ๑) การที่พระสงฆ์จะรักษาศีลได้บริสุทธิ์นั้น  สติเป็นเรื่องสำคัญมาก 
จะสำรวม ระมัดระวังกาย วาจาให้ได้ในทุกอิริยาบถ 
ก็ต้องอาศัยการประคองรักษาสติให้ได้ตลอดเวลา  
ซึ่งการฝึกสมาธิช่วยในเรื่องนี้ได้มากทีเดียว 
เพราะเป็นการฝึกสติ ฝึกควบคุมจิตใจโดยตรง  
ถ้าถามว่า การรักษาสติ หรือการสำรวมระวังกายวาจาให้ได้ ไม่ให้ละเมิดสิกขาบท นี่ยากไหม  
หลวงพี่ขอยกเอาคำของหลวงพ่อก็แล้วกันนะ ท่านว่า ยากพอสู้ คือ... 
ถ้าใจสู้ก็พอที่จะฝึกฝน ฝึกหัดขัดเกลากันไปได้  
ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ นะ  ฝึกสมาธิใหม่ๆ ก็เผลอสติได้ง่าย 
จะทำอะไรก็ผิดพลาดตามไปด้วย ท่านที่ฝึกสมาธิกันมาบ้างคงจะพอนึกออก  
แต่ถ้าเรายังมีฉันทะ ไม่ท้อถอยล้มเลิก มีความเพียร มุ่งมั่นตั้งใจฝึกต่อไปเรื่อย ๆ 
สมาธิของเราก็จะดีขึ้น มีสติมากขึ้น 
สามารถระมัดระวังคำพูดและการกระทำของตนได้มากขึ้น 
ศีลจึงบริสุทธิ์ตามไปด้วย      
                     
                       ๒) หลวงพี่มีความเชื่อมั่นว่า...สมาธิทำให้เกิดปัญญา  
จะว่าไปแล้ว ในงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็มีส่วนคล้ายกับการทำงานของชาวโลกทั่วไปนะ 
จำเป็นต้องใช้ปัญญาในการทำงาน ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ   
ซึ่งหลักคิดในการทำงานพระศาสนาอย่างหนึ่งที่หลวงพ่อธัมมชโยมักจะย้ำอยู่บ่อย ๆ  ก็คือ ...
ถ้าคิดไม่ออก ก็ให้ออกจากความคิด ทำจิตให้สงบ ก็จะพบทางออก  
หลวงพี่ว่า มันก็คล้าย ๆ กับเวลาที่เราเล่นหมากรุก หมากฮอสกันตอนเด็ก ๆ นะ  
ถามว่า ในวงหมากรุกนี่ ใครเก่งสุด  ที่เก่งที่สุดก็คือคนดูนะ 
รู้หมดเลยว่าจะต้องเดินหมากอย่างไร  คนที่เล่นเอง ต่อให้เก่งแค่ไหน ก็มักจะสู้คนดูไม่ค่อยได้  
ที่เป็นอย่างนี้ เพราะว่าคนดูเขาดูด้วยใจที่เป็นกลาง ๆ มองหมากครบทุกตัว มองรอบกระดาน 
จึงเห็นรูปเกมรอบด้านตามความเป็นจริง  แต่พอลงมือเล่นเอง มุมมองจะแคบลงนะ 
เพราะใจมัวแต่คิดจะกินหมากตัวนั้น ตัวนี้ จึงมองไม่รอบด้าน 
หรือถูกฝ่ายตรงข้ามวางหมากหลอกล่อ ให้เห็นรูปเกมผิดไปบ้าง 
พอถูกกินหมากสำคัญไปโดยไม่ทันตั้งตัว ก็มักจะตกใจ เดินหมากต่อไปผิดพลาด  

หลวงพี่มองว่า การทำสมาธิ ทำจิตให้สงบนั้น 
ก็เหมือนกับการถอนตัวเองออกมาจากปัญหาที่กำลังรุมเร้า มาตั้งหลัก ตั้งสติให้ดีก่อน  
เป็นการเปลี่ยนสถานะจากผู้เล่นมาเป็นคนดู 
ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาและสาเหตุได้ชัดเจนขึ้น  
ในเมื่อเห็นทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ได้ถูกต้องตามเป็นจริงแล้ว 
ก็จะเห็นหนทางดับทุกข์ได้ชัดเจนขึ้น เป็นไปตามหลักอริยสัจนั่นเอง  
สมาธิจึงเป็นหนทางไปสู่ปัญญา ที่สามารถนำใช้ไปในงานพระศาสนาเป็นแบบโลกิยะ 
หรือจะนำไปใช้ในการฝึกหัดขัดเกลาจิตใจเป็นแบบโลกุตระก็ได้ทั้งนั้น

            ดังนั้น การฝึกฝนความเป็นพระในมุมมองของหลวงพี่ ก็คือ ...
การฝึกฝนตนเองตามหลักไตรสิกขา ฝึกหัดขัดเกลากาย วาจา ใจ 
ให้คิดแบบพระ พูดแบบพระ และก็ทำแบบพระ  
ถามว่าฝึกยากไหม หลวงพี่ก็คิดเหมือนกับหลวงพ่อนะ ยากพอสู้ แต่ก็มีความสุข  
ถ้าใครอยากรู้ว่ายากแต่มีความสุขเป็นอย่างไร 
ก็คงต้องขอเชิญชวนให้มาบวชที่วัดพระธรรมกายสัก ๑ พรรษานะ

ฐานวีโร  ภิกขุ
----------------------------------

บันทึกมาแบ่งปัน โดย บัว  อรุโณทัย
23 มกราคม 2560




วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

หลวงพี่ได้เรียนรู้อะไร จากหลวงพ่อ ?

เราได้รับความเมตตาจากหลวงพี่ฐานวีโร,
ท่านกรุณาตอบคำถามอย่างน่าสนใจหลายคำถามในบทก่อนๆ พอสมควรนะคะ
วันนี้...
เชื่อว่าเรื่องราวต่อไปนี้ จะช่วยให้เรา
รู้จักวัดพระธรรมกาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงพ่อทั้งสอง
คือ หลวงพ่อธัมมชโย และหลวงพ่อทัตตะ  ได้มากขึ้น
ไปฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของหลวงพี่ท่านกันค่ะ




-----------------------------------------


ในฐานะที่,หลวงพี่เป็นพระอยู่วัดพระธรรมกาย,  
หลวงพี่ได้เรียนรู้อะไรจาก ...
พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยหลวงพ่อทัตตะชีโว บ้างค่ะ 


            ถามอย่างนี้ ถ้าต้องการคำตอบจริง ๆ จัง ๆ หลวงพี่คงต้องใช้เวลาตอบเป็นวัน ๆ เลยนะ  
หลวงพี่ขออนุญาตตอบโดยสรุปรวมประเด็นเป็นว่า ...
หลวงพี่บวชอยู่วัดนี้มา ๑๐ พรรษา หลวงพี่ได้อะไรบ้างจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสองรูป 
(คำว่า พระเดชพระคุณ เป็นคำที่คณะสงฆ์ไทยใช้เรียกพระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญขึ้นไป ท่านใช้กันทั่วไปนะ ไม่ใช่ว่าวัดพระธรรมกายบัญญัติขึ้นมาใหม่เพื่อยกย่องหลวงพ่อตัวเองเท่านั้น) 
ตลอดจนพระอาจารย์ทั้งหลายแทนก็แล้วกัน

            อย่างแรกเลยนะ  ...
หลวงพี่ได้มีโอกาสรู้จักและเข้าใจคำว่า หลังอิงต้นโพธิ์  
หมายความว่า เป็นพระวัดพระธรรมกายจะทำอะไรก็ตาม ให้ยึดเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก
ในการตัดสินใจเสมอ  เวลาที่หลวงพี่ไปเทศน์สอนคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา 
(ตามที่เคยเล่าไว้บ้างแล้วในคราวก่อน)  
ก็จะมีโอกาสกราบขอโอวาทจากหลวงพ่อทัตตชีโวอยู่บ่อยครั้ง 
ซึ่งท่านก็มักจะถามว่า เลือกใช้พระสูตรอะไร หลักธรรมหมวดใดไปสอน
แล้วหลวงพี่ก็มักจะได้พระสูตรที่น่าสนใจ และข้อคิดดี ๆ จากหลวงพ่อเสมอ ๆ เช่น ...
ถ้าเราจะสอนเรื่องทุกข์ในตัวมนุษย์ ให้รู้จักมองชีวิตให้เห็นความทุกข์ 
ก็ต้องศึกษาจากสรีรัฏฐธัมมสูตร  จะแนะนำหลักธรรมให้คุณครูนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ 
ท่านก็จะยกหลักวุฒิธรรม ๔ มาอธิบายให้ฟัง ฯลฯ 

            บางครั้ง มีพระอาจารย์รูปอื่น ๆ มากราบหลวงพ่อพร้อมกัน  
ทำให้หลวงพี่ต้องทึ่งกับการนำสรรพศาสตร์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกไปใช้งานจริงของหลวงพ่อ 
เช่น ...
จะก่อสร้างสถานที่อบรมปฏิบัติธรรม ท่านก็จะให้ข้อคิดจากเสนาสนสูตร 
พร้อมกับยกตัวอย่างวัดต่าง ๆ ในสมัยพุทธกาลที่ปรากฏในคัมภีร์ เช่น วัดพระเชตวัน เป็นต้น  
(จนกลายเป็นที่มาของหนังสือวัดอบอุ่น)  

ซึ่งจะว่าไปแล้ว แนวคิดในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในวัดพระธรรมกาย 
ล้วนแล้วแต่เป็นการถอดบทเรียนจากแนวคิดที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา 
มาปรับใช้โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสองรูปนั่นเอง  

ถ้าใครสนใจในรายละเอียด หลวงพี่อยากจะเชิญชวนให้หาโอกาสมาชมวัดกัน 
มาฟังพระอาจารย์ท่านบรรยาย พร้อมกับนำชมสถานที่จริง 
จะได้ทราบรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนะ        

            อย่างที่สองนะ ... 
หลวงพี่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำบุญ และการสร้างบารมีมากยิ่งขึ้น 
ทำให้เชื่อมั่นในเรื่องราวที่เขียนอยู่ในพระไตรปิฎก  
พวกเราคงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างว่า... 
อุบาสก อุบาสิกาในสมัยพุทธกาล ทำบุญเลี้ยงพระคราวละหมื่นรูป แสนรูป  หลาย ๆ คนไม่เชื่อนะ 
ไม่คิดว่าจะมีการถวายทานกันมากขนาดนั้นจริง ๆ 
อย่าว่าแต่โยมเลย พระบางรูปท่านก็ยังไม่เชื่อ คิดว่า ...
จำนวนตัวเลขพวกนี้ ไม่ได้หมายถึงจำนวนเท่านั้นจริง ๆ เป็นแต่เพียงสำนวนภาษาให้รู้ว่ามาก  

แต่หลวงพ่อธัมมชโย ท่านว่า พระไตรปิฎกถูกสังคายนาและทรงจำต่อ ๆ กันมาโดยเหล่าพระอรหันต์ 
จะเป็นเรื่องไม่จริง ผิดเพี้ยนไป หรือเป็นเพียงสำนวนภาษาได้อย่างไร !

ท่านก็เลยคิดจัดถวายสังฆทานหลักหมื่นรูปดูบ้าง 
เริ่มงานแรกในวันฌาปนกิจศพของคุณยายอาจารย์จันทร์ ขนนกยูง 
ผู้เป็นครูสอนธรรมะของหลวงพ่อ และเป็นผู้สร้างวัดพระธรรมกาย 

ท่านทำบุญเลี้ยงพระอุทิศบุญกุศลให้ครูของท่าน 
โดยนิมนต์พระสังฆาธิการจากสามหมื่นวัดทั่วประเทศ ก็ปรากฏว่าทำได้จริงนี่ 
ถวายเพลพระและถวายจตุปัจจัยไทยธรรม 
ในปีต่อ ๆ มา ท่านจึงทำบุญถวายสังฆทานในวันคล้ายวันเกิดของท่าน 
ปีละหมื่นรูปบ้าง ๒ หมื่น ๓ หมื่นรูปบ้าง 

            ถ้าเป็นงานที่จัดภายนอกวัด พวกเราคงเคยได้ยินข่าวตักบาตรพระหมื่นรูป 
ตอนตักบาตรอาจจะคิดว่า ไม่ยากอะไรนี่ เพราะแต่ละคนก็ไม่ได้ตักบาตรครบทุกรูป 
แต่อยากให้ลองนึกถึงว่า จะต้องถวายภัตตาหารเช้าให้กับทุกรูปด้วยนะ  
ยิ่งครั้งล่าสุด เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จัดงานตักบาตรพระเณรจากทั่วประเทศนับแสนรูป  

นี่ไง ที่ในพระไตรปิฎกว่าไว้ มันเป็นไปได้นะ ไม่ใช่แค่ตัวเลขสำนวนภาษา  
ที่หลวงพ่อทำไปก็เพราะอยากให้ชาวพุทธได้มีโอกาสทำบุญใหญ่ เหมือนจำลองเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลให้พวกเราได้เห็น จะได้เกิดความเชื่อมั่นเรื่องราวในพระไตรปิฎกกัน

            ในทัศนะของหลวงพี่นะ... 
แต่ละโครงการที่หลวงพ่อท่านทำมาตลอด ๔๐ – ๕๐ ปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการบวชพระ
บวชเณร  โครงการตักบาตร ถวายสังฆทาน กิจกรรมนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม ฯลฯ ...

ก็เพราะท่านมีความเชื่อมั่นในเรื่องบุญ ในเรื่องการสร้างบารมี  ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้า 
ตลอดจนพระอริยสาวกทั้งหลายได้ทำไว้ ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก  
ไม่ใช่เชื่อมั่นแค่ตัวท่านเองรูปเดียวนะ ยังเผื่อแผ่มาถึงลูกพระลูกเณร และญาติโยมที่มาวัดด้วย 
ให้มีกำลังใจที่จะทำความดี ที่จะสร้างบารมีตามอย่างที่ท่านว่าไว้ในคัมภีร์  

อย่าลืมนะว่า ถ้าจะหมดกิเลส บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จะต้องสร้างบารมีอย่างน้อยแสนกัป 
ไม่ใช่ว่าอยู่เฉย ๆ แล้วจะหมดกิเลสได้นะ  
หลวงพี่ได้กำลังใจในการบวชสร้างบารมีจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสองรูปนี่แหละ

            อย่างที่สาม ...
หลวงพี่เข้าใจหน้าที่ความเป็นพระ 
(ครั้งก่อน หลวงพี่เคยเล่าเรื่องประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านไว้แล้ว คงพอจำกันได้นะ) 

โดยดูแบบอย่างจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสอง  
อย่างที่เล่าไปข้างต้นว่า หลวงพี่ได้มีโอกาสฟังคำสอนดี ๆ จากหลวงพ่อทัตตชีโว
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเทศน์สอน  
มีอยู่เรื่องหนึ่งที่หลวงพ่อท่านมักจะย้ำอยู่บ่อย ๆ คือ...
ท่านบอกว่า การเทศน์สอนน่ะ ไม่มีอะไรมากหรอก  เราฝึกฝนตัวเองเรื่องอะไรได้ 
ก็ให้เอาเรื่องนั้นแหละไปสอนญาติโยมต่อ 
(ซึ่งเป็นคำสอนที่คุณยายอาจารย์จันทร์ได้ชี้แนะให้กับหลวงพ่อ) 

จริง ๆ มันมีนัยยะ มีความหมายที่ลึกซึ้งนะ หมายความว่า ...
ก่อนที่จะไปสอนญาติโยม สอนคนอื่นน่ะ  เป็นพระต้องสอนตัวเองให้ได้เสียก่อน 
ต้องฝึกฝนตนเองตามธรรมะที่ได้ศึกษามาให้ดีเสียก่อน 
แล้วเอาธรรมะที่เราทั้งศึกษาทั้งลงมือปฏิบัติเองแล้วนั่นแหละ ไปเทศน์ ไปสอน  
นั่นคือ เป็นพระต้องบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ดีเสียก่อน 
จึงจะบำเพ็ญประโยชน์ท่านได้ดีตามไปด้วย 

            หลวงพี่ได้มีโอกาสฟังหลวงพ่อเทศนาแก่คุณครูในงานอบรมต่างๆอยู่บ่อย ๆ 
ท่านทำอย่างที่ท่านว่าจริง ๆ นะ  
ท่านเอาประสบการณ์ที่คุณยายอาจารย์จันทร์ฝึกท่าน ที่หลวงพ่อธัมมชโยฝึกท่าน 
มาให้คุณครูได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติกัน อย่างเช่น... 
ในเสนาสนสูตรซึ่งกล่าวถึงเรื่องอาวาสสัปปายะ คือ ...
สถานที่ต้องเป็นที่สบายก่อน  หลวงพ่อจึงเน้นเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบของสถานที่  

คุณครูมาอบรม มาปฏิบัติธรรม ก็ต้องสอนปัดกวาดเช็ดถู สอนขัดห้องน้ำให้สะอาด 
สอนเรื่องการจัดข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบ 
หรือที่ในพระสูตรกล่าวว่า ผู้เรียนต้องมีโรคน้อย มีอาพาธเบาบาง  
หลวงพ่อท่านก็จะสอนเรื่องการดูแลสุขภาพ สอนคุณครูทานข้าว ดื่มน้ำ  เป็นไงล่ะ 
ในพระสูตรมีบอกไว้นะ อีก ๔ – ๕ คำจะอิ่มให้หยุดฉัน แล้วดื่มน้ำตาม จะอิ่มพอดี 

            ที่หลวงพี่ประทับใจมากอีกเรื่องหนึ่งนะ 
หลวงพ่อท่านสอนหลวงพี่กับทีมงานเรื่องการใช้หมอน ซึ่งตัวท่านใช้หมอนที่ทำมาจากไม้ 
ท่านก็สอนวิธีสังเกตท่านอน สังเกตลักษณะศีรษะของเรากับลักษณะหมอน 
ท่านสอนอยู่เกือบชั่วโมง  
หลวงพี่เองติดใจเรื่องหมอนไม้นี้มาตั้งแต่บวชใหม่ ๆ แล้ว 
เพราะเคยฟังโอวาทของหลวงพ่อที่ท่านเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล 
พระภิกษุใช้หมอนไม้หนุนนอน หลวงพี่ก็อยากรู้ว่าท่านไปเอามาจากคัมภีร์ไหน  
มีอยู่วันหนึ่งไปเปิดพระไตรปิฎกเจอกลิงครสูตร พระสูตรว่าด้วยหมอนท่อนไม้ 
จึงได้ถึงบางอ้อ ยิ่งได้เห็นหมอนไม้ของหลวงพ่อ หลวงพี่ยิ่งประทับใจ 
หลวงพ่อของพวกเราหลังอิงต้นโพธิ์ทุกเรื่องสิน่ะ


            ส่วนหลวงพ่อธัมมชโยนั้น ต้องบอกว่า... ท่านเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตสมณะ 
และการทำหน้าที่ความเป็นพระของหลวงพี่เลยนะ ครั้งก่อน ...
หลวงพี่ได้เล่าถึงคำสอนของท่านว่า ...

ในเมื่อญาติโยมเกื้อกูลพระเณรด้วยปัจจัย ๔ แล้ว 
พระเณรก็ต้องตอบแทนคืนญาติโยมด้วยธรรมะ พระพุทธศาสนาจึงจะเจริญรุ่งเรือง  

ตัวหลวงพ่อเองก็ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ตามที่ท่านสอนนะ คือ ...
ปกติที่วัดพระธรรมกาย ทุก ๆ คืนจะมีการเทศน์สอนญาติโยมที่มาวัด 
ช่วงเวลาประมาณ ๑ ทุ่มถึง ๓ ทุ่ม  หลวงพ่อธัมมชโยท่านเทศน์สอนเองแทบทุกคืนนะ 
แม้ว่าท่านจะอายุ ๗๐ กว่าแล้ว แถมยังมีโรคประจำตัวอีก 
วันไหนที่อาการอาพาธกำเริบมาก ท่านจึงจะหยุดพัก 
โดยมอบหมายให้พระอาจารย์รูปอื่น ๆ ทำหน้าที่แทน 
(จะมีช่วงปีนี้ที่อาการอาพาธของท่านกำเริบหนักมาก
จนหมอต้องขอให้พักการปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ)  


ถ้าจะว่าไปแล้วนะ พวกเราคิดว่า ระดับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย 
ซึ่งมีพระลูกวัด ๓ – ๔ พันรูปนี่ จำเป็นต้องมาเทศน์เองไหม 
หรือถ้าเอาระดับพระมหาเปรียญธรรมนะ ที่วัดมีอยู่พันกว่ารูป  
ถ้าให้ผลัดเปลี่ยนกันมาเทศน์วันละองค์นี่ ตกคิวหนึ่งก็เกือบ ๓ ปีน่ะ 
จึงจะวนกลับมาเทศน์อีกรอบ  
หลวงพ่อไม่จำเป็นต้องมาทนปวดขา ทนเจ็บคอ ปวดหัว ฯลฯ ก็ได้นะ  

แต่...
หลวงพ่อท่านสอนว่า ในเมื่อพระเรายังใช้สอยจีวรที่ญาติโยมถวายมา 
ยังฉันข้าวปลาอาหารของญาติโยมอยู่ทุกวัน  
ก็ต้องตั้งใจศึกษาธรรมะ ตั้งใจปฏิบัติธรรม เมื่อรู้ธรรมะอะไรแล้วก็แนะนำสั่งสอนญาติโยมต่อ 
เป็นการตอบแทนคุณข้าวปลาอาหารของญาติโยม  นี่คือหลวงพ่อของพวกเรา 
ท่านทำหน้าที่ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้อย่างสมบูรณ์แบบจริง ๆ 
ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน


ฐานวีโร ภิกขุ 
---------------------------------

บันทึกมาแบ่งปัน โดย  บัว  อรุโณทัย
20 มกราคม 2560