วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พระ : บำเพ็ญประโยชน์ตน บำเพ็ญประโยชน์ท่าน(ส่วนรวม): ฐานวีโร ภิกขุ

สวัสดีค่ะ,
วันนี้ เรามีโอกาส ได้สนทนากับ พระอาจารย์ฐานวีโร ค่ะ
( ขออนุญาตเรียกพระอาจารย์, ประสาพี่น้องญาติโยมว่า...หลวงพี่ นะคะ)
หลวงพี่ชื่อว่า... พระมหาธีรพงษ์  ฐานวีโร
หลวงพี่ศึกษาจบนักธรรมเอก, เปรียญธรรม 6 ประโยค,
ดำรงสมณะเพศมาถึงวันนี้พรรษา 10 แล้วค่ะ
ก่อนมาบวช, หลวงพี่ท่าน สำเร็จการศึกษาจาก คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค่ะ 




ไปสนทนากับหลวงพี่กันค่ะ ... ^^ 


#หลวงพี่
ก่อนบวชหลวงพี่มีแนวคิด และใช้ชีวิตอย่างไรคะ 

ก่อนบวช หลวงพี่ก็ใช้ชีวิตอย่างนักศึกษาทั่วไป เรียนหนังสือ ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ฯลฯ
หลวงพี่คิดว่า คนเราน่าจะใช้ชีวิตให้มีความสุข แต่ก็ต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
และก็ควรที่จะทำคุณงามความดีเท่าที่ตนเองพอทำได้ตามโอกาสอันสมควร


#อะไรทำให้หลวงพี่สนใจศึกษาธรรมะ/พระพุทธศาสนา คะ ?

หลวงพี่เข้าใจว่า มาจากสาเหตุ ๓ ประการ
๑. โยมพ่อโยมแม่ของหลวงพี่ชอบไปวัดทำบุญ  โยมพ่อจะชอบนั่งสมาธิมาก  
ที่บ้านหลวงพี่จะตักบาตรทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน  
เมื่อถึงคราวเทศกาลงานบุญต่าง ๆ ก็จะไปทำบุญกันตลอด 
ทำให้หลวงพี่มีความคุ้นเคยกับพระ กับวัดมาตั้งแต่เด็ก

๒. ในช่วงที่เรียนชั้นมัธยม หลวงพี่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมศึกษา 
ที่เขาให้นักเรียนสอบกันนั่นแหละ  เรียนชั้นเอก จบตอน ม. ๓  
และได้เข้าร่วมโครงการตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้า  
ซึ่งทำให้หลวงพี่ได้มีโอกาสศึกษาหลักธรรมมงคลสูตร ๓๘ ประการ  
นอกจากนี้ก็ยังได้มีโอกาสอยู่ชมรมกิจกรรมพระพุทธศาสนาตอนเรียน ม. ๒  
โยมอาจารย์ก็จะปลูกฝังการสวดมนต์ทำวัตร  
ซึ่งที่โรงเรียนก็จะมีการสวดมนต์ทำวัตรเช้าเวลา ๐๗.๓๐ น. 
ก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ  และสวดมนต์ทำวัตรเย็นในคาบกิจกรรมของแต่ละระดับชั้น

เมื่อมาเรียนมหาวิทยาลัย 
ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมพุทธศาสน์ของมหาวิทยาลัย
ทำให้ได้มีโอกาสสวดมนต์ นั่งสมาธิ  ได้มีโอกาสทำบุญตักบาตร 
ถวายสังฆทาน ปล่อยปลา ฯลฯ ที่ทางชมรมจัด  
และที่สำคัญในห้องชมรมก็จะมีตู้พระไตรปิฎก มีหนังสือธรรมะค่อนข้างมาก  
ก็จะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่หลวงพี่มักจะมานั่งเล่น 
ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาธรรมะทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย

๓. จากการอ่านหนังสือในหอสมุดฯ แบบดะไปทั่วของหลวงพี่ 
ก็ทำให้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา  
ซึ่งก็อ่านดะอีกเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนิทานชาดก 
บทเทศน์สอนของหลวงปู่ หลวงตาหลาย ๆ รูป  
ไปจนถึงนิยายอิงพุทธศาสนาของ อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ อ.แสง จันทร์งาม อ.วศิน อินทสระ ฯลฯ 
ก็มีส่วนทำให้หลวงพี่เริ่มสนใจศึกษาธรรมะ


#อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการบวชของหลวงพี่
และ หลวงพี่มีความตั้งใจอย่างไร ในการเป็นพระภิกษุ คะ?

ที่หลวงพี่ตัดสินใจบวช ก็เพราะอยากจะทดแทนพระคุณของโยมพ่อโยมแม่ และผู้มีพระคุณ  
บวกกับความตั้งใจที่อยากจะศึกษาธรรมะให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป  
มีความคิดว่า เรายอมเสียเวลากับการเรียนทางโลกมาเป็น ๑๐ – ๒๐ ปี 
กว่าจะจบปริญญาตรี  ถ้าจะเสียเวลากับการศึกษาธรรมะบ้าง ก็จะเป็นไรไป
เมื่อบวชเป็นพระแล้ว หลวงพี่ก็มีเพียงความตั้งใจที่จะทำให้ได้ตามเจตนาข้างต้นนั่นเอง


# ขอความกรุณาหลวงพี่เล่าถึงความเป็นพระ
ภาระกิจหน้าที่ของพระ คือ อย่างไร ในทัศนะของหลวงพี่ 
?

หลวงพี่คิดว่า ภารกิจหน้าที่ของพระมี ๒ อย่าง ตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนกันมา
คือ บำเพ็ญประโยชน์ตน (ประโยชน์ส่วนตัว) และประโยชน์ท่าน (ประโยชน์ส่วนรวม)

บำเพ็ญประโยชน์ตน ก็คือ 
การฝึกฝนอบรมตนเองตามหลักพระธรรมวินัย เพื่อขัดเกลากิเลสในใจให้ลดลง 
จนกระทั่งหมดกิเลสในที่สุด ผ่านการศึกษาพระปริยัติธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 
และการปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา  
ในแต่ละวันของชีวิตพระ ก็จะมีเวลาสำหรับการศึกษาธรรมะ 
เช่น นักธรรม บาลี หรืออ่านพระไตรปิฎก หนังสือธรรมะ ฯลฯ 
และเวลาสำหรับการปฏิบัติธรรม สวดมนต์ เจริญภาวนา

บำเพ็ญประโยชน์ท่าน ก็คือ 
การนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ศึกษามา 
ตลอดจนหลักปฏิบัติในการฝึกอบรมจิตใจที่ได้จากการฝึกจิต เจริญภาวนา  
มาแนะนำสั่งสอนญาติโยม ให้ได้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน  
ให้พวกเขามีหลัก มีมุมมองในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  
ในมุมมองหลวงพี่ สิ่งนี้ก็คือการตอบแทนคุณข้าวปลาอาหาร 
ตลอดจนปัจจัย ๔ ต่าง ๆ ที่ญาติโยมได้นำมาถวายแด่พระสงฆ์นั่นเอง  
หลวงพ่อธัมมชโยท่านสอนว่า ในเมื่อญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา 
เกื้อกูลพระเณรด้วยโลกิยทรัพย์ คือ ด้วยปัจจัย ๔  
ฝ่ายพระภิกษุ สามเณร ก็เกื้อกูลตอบด้วยอริยทรัพย์ คือ ธรรมะของพระพุทธเจ้า  
ถ้าทำได้อย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

สำหรับตัวหลวงพี่เอง ก็ได้มีโอกาสทำภารกิจหน้าที่ของพระในส่วนนี้ 
ด้วยการเทศน์สอนนักเรียน ครูอาจารย์ ตามสถานศึกษาต่าง ๆ หรือในช่วงปิดภาคเรียน 
ก็มีโอกาสช่วยงานอบรมโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนในต่างจังหวัด


#ในทัศนะของหลวงพี่พระพุทธศาสนา ในสังคมปัจจุบัน เป็นอย่างไร คะ

หลวงพี่คิดว่า ในสังคมปัจจุบัน พระพุทธศาสนาถูกมองใน ๒ บทบาท คือ 
เป็นสถาบันที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นสถาบันสอนศีลธรรม

คนบางกลุ่มมองพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นสถาบันยึดเหนี่ยวจิตใจ 
คนกลุ่มนี้ก็จะไปวัดทำบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อความสบายใจ ฯลฯ  
ซึ่งในบางครั้ง ก็กลายเป็นการสะเดาะเคราะห์ แก้กรรม ทำบุญขอโชคลาภต่าง ๆ  ไป  
คนกลุ่มนี้แม้จะมีความเคารพนับถือพระสงฆ์ มีทัศนคติเชิงบวกกับพระ กับวัด  
แต่ก็ไม่ค่อยสนใจที่จะศึกษาหลักธรรมคำสอน 
ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาเท่าที่ควร  
นอกจากนี้แล้ว อาจกลับกลายเป็นความเชื่ออย่างงมงายไร้เหตุผลตามที่ปรากฏเป็นข่าวทั่วไป 

หลวงพี่คิดว่า พระพุทธศาสนาในบทบาทนี้แหละ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ยอมรับในวิทยาศาสตร์ 
ไม่เชื่อสิ่งงมงาย เริ่มไม่สนใจพระพุทธศาสนา 
เพราะมีความเข้าใจ หรือมีมุมมองต่อพระพุทธศาสนาเพียงแค่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ 
ซึ่งในปัจจุบัน พวกเขาสามารถหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้มากมาย  
ไม่ว่าจะเป็นแนว life coaching ที่เน้นปลุกเร้าพลัง ให้กำลังใจต่าง ๆ  
หรือแนว family relation ที่ให้ความสำคัญกับความสุขในครอบครัว ฯลฯ 
ไม่นับรวมพวกอบายมุขต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่เห็นว่าเป็นเรื่องผิดแปลกอะไร 
เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นที่พวกเขาจะต้องไปหาพระ หาวัดมาเป็นที่พึ่งทางใจ

คนบางกลุ่มมองพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นสถาบันสอนศีลธรรม  
คนกลุ่มนี้ก็จะสนใจศึกษาคำสอน สนใจการปฏิบัติธรรมมากกว่ากลุ่มแรก  
พวกเขาจะมีแนวคิดคล้าย ๆ เวลาที่เราเลือกโรงเรียนให้ลูกหลานเรียน  
ใครชอบการเรียนการสอนแบบไหน ก็เลือกเรียนกันไป  
ในมุมมองนี้ วัดก็คือโรงเรียน พระก็คือครูสอนศีลธรรมนั่นเอง  
คนกลุ่มนี้ก็จะให้ความเคารพพระเสมือนกับเป็นครูบาอาจารย์  
ซึ่งหากมีพระทำผิดพระธรรมวินัย พวกเขาก็กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ 
เหมือนกับพวกนักเรียนประท้วงครูบาอาจารย์ที่ทำความผิดนั่นเอง 

หลวงพี่คิดว่า พระพุทธศาสนาในบทบาทนี้บีบบังคับให้พระ 
ให้วัดต้องมีการพัฒนาตนเองตามหลักพระธรรมวินัยอยู่เสมอ ๆ  
เหมือนกับโรงเรียนต่าง ๆ ถ้ามีการพัฒนาการเรียนการสอน ให้นักเรียนได้ประโยชน์เต็มที่ 
ก็จะมีผู้ปกครองส่งลูกหลานมาเรียน  แต่ถ้าโรงเรียนใดสอนไม่ดี 
พวกเขารู้สึกว่า ไม่คุ้มค่าที่จะส่งลูกหลานมาเรียน  โรงเรียนนั้นก็เตรียมปิดกิจการได้เลย


#หลวงพี่คิดว่า พระพุทธศาสนา/พระภิกษุ มีความจำเป็นในการปรับตัว
เพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ส่วนรวม อย่างไรไหมคะ ?

ในมุมมองของหลวงพี่นะ  หลวงพี่คิดว่า หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก 
คือ ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา  นั่นก็หมายความว่า 
คำสอนของพระพุทธองค์ ดีเยี่ยมอย่างไรในสมัยพุทธกาล  
ในยุคปัจจุบันก็ยังคงดีเยี่ยมอยู่อย่างนั้นแหละ  
เพียงแต่ว่าชาวพุทธ คือ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา
จะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ได้มากน้อยเพียงใดต่างหาก  
ไม่ใช่เรื่องของการที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่แต่อย่างใด  
แต่เป็นเรื่องการปรับปรุงตัวเองให้ถูกต้อง ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
ตามหลักพระธรรมวินัยที่มีมาแต่ดั้งเดิมนั่นแหละ



#โลก ณ วันนี้ เป็นโลกแห่งเทคโนโลยีในทุกด้าน หลวงพี่คิดว่า
พระพุทธศาสนา ควรนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาใช้เพื่องานสอนศีลธรรม 
หรือไม่/อย่างไร คะ


หลวงพี่คิดว่า เทคโนโลยีเป็นของกลาง ๆ จะใช้ในทางที่ดีหรือไม่นั้น 
ก็ขึ้นอยู่กับคนใช้งาน  
อย่างที่เราเห็นกันทั่วไป ถ้าเด็กนักเรียนใช้ tablet เพื่อการเรียน การค้นคว้าหาความรู้ 
อย่างนี้ เทคโนโลยีก็เป็นคุณประโยชน์  แต่ถ้าเอาไปเล่นเกม 
อย่างนี้ เทคโนโลยีก็ให้โทษ ไม่สมควรใช้

ในส่วนของพระพุทธศาสนาเองก็เช่นกัน  
ถ้าถามว่า ควรนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่องานสอนศีลธรรมไหม 
หลวงพี่กลับมองไปที่ตัวผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร 
หรือแม้แต่ญาติโยมก็ตาม ว่าสามารถที่จะใช้มันได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่  
ถ้าควบคุมให้ใช้ในทางที่ถูกต้องเหมาะสมได้  
สามารถควบคุมกิริยาอาการให้ดูสำรวมขณะใช้งานได้ อย่างนี้ก็ควรนำมาใช้  
แต่ถ้าไม่ได้ ก็ยังไม่สมควรใช้  เหมือนกับพ่อแม่จะให้ลูกใช้ smart phone ก็ต้องดูก่อนว่า 
ลูกสามารถที่จะควบคุมตัวเองให้ใช้เฉพาะในทางที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ได้หรือไม่ 

ความไม่เข้าใจ ความไม่ศรัทธาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หลวงพี่คิดว่าเป็นเพียงส่วนน้อย 
ที่อาจพบเห็นพระภิกษุสามเณรใช้งานเทคโนโลยีไปในทางที่ไม่สมควร 
หรือมีกิริยาอาการที่ไม่สำรวมขณะใช้งาน  มากกว่าที่จะมองในมุมว่า 
พระใช้เทคโนโลยีแล้วดูไม่สมถะ  หลวงพี่คิดว่า... 
ญาติโยมส่วนใหญ่เข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้งานสิ่งเหล่านี้ในโลกยุคปัจจุบันนะ

ในพระพุทธศาสนา ท่านมีศัพท์อยู่คำหนึ่งว่า โลกวัชชะ แปลว่า ชาวโลกติเตียน  
คือ พระสงฆ์องค์เณรจะทำอะไรลงไป นอกจากจะยึดพระธรรมวินัยแล้ว 
ยังต้องดูให้เหมาะสมกับสภาพสังคมแวดล้อมด้วย 
ดูว่าชาวบ้านเขาจะยอมรับความประพฤตินั้นๆ ได้ไหม เขาจะติเตียนหรือไม่ 
เพราะถ้าเขารับไม่ได้ เขาก็จะไม่ทำบุญตักบาตร พระเณรก็จะอยู่ไม่ได้เอง  
ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ใช้เทคโนโลยีแต่ละท่านแล้ว 
ที่จะต้องตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ 
บริบทแวดล้อมทางสังคม ฯลฯ  ถ้าทำได้อย่างนี้ 
พระพุทธศาสนาจึงจะได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเต็มที่


#สมัยนี้,ผู้คนหันไปให้ค่านิยมทางวัตถุ ละเลยจิตใจ เมื่อชีวิตเป็นทุกข์ ก็หาทางออกไม่ถูก
เป็นผลทำให้หลงทำผิด
 หลวงพี่มีทัศนะอย่างไร กับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันในสภาวะดังกล่าวคะ ?

เวลาหลวงพี่เทศน์สอนผู้ใหญ่ หรือเด็กโต ๆ อย่างนิสิตนักศึกษา  
หลวงพี่มักจะให้ข้อคิดไว้ ๓ เรื่อง แล้วให้เขาสรุปประมวลผลเอง คือ

            ๑. ในโลกใบนี้ อะไรมีมากกว่ากัน ระหว่างสัตว์ หรือคน   
แน่นอนว่า คำตอบก็คือสัตว์ ดูง่าย ๆ ที่บ้านเรือนแต่ละหลัง สัตว์เลี้ยงที่น่ารัก 
ไม่ว่าจะเป็นยุง มด แมลงวัน แมลงสาบ จิ้งจก ฯลฯ มากกว่าผู้คนในบ้านหลายเท่านัก 
นี้ยังไม่นับรวมสัตว์ในทะเล ในป่าเขาอีกมากมาย  สรุปแล้ว สัตว์มีมากกว่าคน

            ๒. ชีวิตมนุษย์เรามีการเวียนว่ายตายเกิดนะ  
ในปัจจุบัน แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด 
เนื่องจากมีงานวิจัยเกี่ยวกับการระลึกชาติ เกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย ฯลฯ  
ทำให้ยากที่จะปฏิเสธการกลับชาติมาเกิดใหม่ได้  แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่เชื่อเรื่องนรก สวรรค์ 
ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ก็ตาม  
แต่ก็ยอมรับเรื่องการเกิดใหม่ในโลกใบนี้กันแล้ว

            ๓.  ทบทวนวิชาความน่าจะเป็น (probability) ที่เคยเรียนกันมาสักหน่อยหนึ่ง  
หลวงพี่จะสมมติว่า ถ้าเราตายไป  เรื่องนรก สวรรค์ให้พักไว้ก่อน 
ให้ทุกคนได้กลับมาเกิดใหม่บนโลกใบนี้ทั้งหมด (ตามข้อ ๒)  
ว่าโดยความน่าจะเป็นแล้ว ท่านจะได้กลับมาเกิดเป็นอะไร คนหรือสัตว์
           
หลวงพี่คิดว่า ถ้าตอบโดยไม่โกหกตัวเอง 
ก็น่าจะพอทำให้ฉุกคิดที่จะศึกษาพระพุทธศาสนากันได้บ้าง ไม่มากก็น้อยนะ

--------------------



หลวงพี่ท่านอธิบายเรียบง่ายชัดเจนดีมากๆ, 
admin คงไม่ต้องสรุปอะไรอีกแล้วนะคะ ^^ 


พรุ่งนี้, ตื่นเช้าตักบาตรกันค่ะ^^
8 ธันวาคม 2559
บัว  อรุโณทัย 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น