วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560

ทำไมพระสงฆ์จึงเป็น “เนื้อนาบุญ”





 คำถามนี้ คงเกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คน
ซึ่งเริ่มจะห่างเหินจากวัด จากพระ จนเกิดความสงสัย
หรืออาจจะถึงขั้นไม่เข้าใจว่า ทำไมพระสงฆ์จึงเป็นเนื้อนาบุญ 

เพราะหลาย ๆ คน มักจะคิดกันว่า ชีวิตพระสงฆ์อยู่กันอย่างสุขสบาย
มีข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ครบครัน  วัน ๆ แค่เดินบิณฑบาต
หรือสวดศพ ก็มีจตุปัจจัยใช้ไม่ขาดมือ โดยที่ไม่ต้องทำงานทำการอะไร  

ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไปทำบุญเลี้ยงเด็กกำพร้า
สงเคราะห์คนชรา หรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ฯลฯ
น่าจะได้บุญมากกว่า

แต่ก็น่าแปลกใจที่หลาย ๆ คนที่มีความคิดเช่นนี้ กลับไม่คิดที่จะบวชเป็นพระ
ใช้ชีวิตอย่างที่พวกเขาคิดว่าสุขสบาย
อย่าว่าแต่ผู้คนทั่ว ๆ ไปที่สามารถประกอบการงานหาเลี้ยงชีพได้เองเลย
พวกคนเร่ร่อน คนขอทาน ที่เห็นกันตามเมืองใหญ่ ๆ น่าจะมาบวชกันหมดแล้ว 

หรืออย่าว่าแต่การบวชตลอดชีวิต หรือบวชเรียนเป็น ๕ ปี ๑๐ ปีเลย 
บางท่านพ่อแม่ขอให้บวชให้สัก ๑ พรรษา ๓ เดือน ก็ยังทำให้ท่านไม่ได้เลย 
เดี๋ยวนี้จึงมักจะเห็นการบวช ๗ วัน ๑๕ วัน เสียเป็นส่วนใหญ่

แสดงว่า จริง ๆ แล้ว ชีวิตพระ นั้นมีภาระหน้าที่บางอย่าง มากกว่าที่เข้าใจกัน 
และน่าจะเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญ !
หรือยาก จนหลาย ๆ คนคิดว่า ตนเองไม่สามารถจะทำเช่นนี้ได้

มาถึงตรงนี้  ก็น่าจะทำให้หลาย ๆ ท่าน ได้หยุดและฉุกคิดได้ว่า
ชีวิตพระสงฆ์ คงไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาว่ากัน
และผู้ที่บวชเป็นพระได้ ก็คงไม่ธรรมดาเช่นกัน
อย่างน้อย ๆ แม้ไม่ได้คิดจะทำบุญกับท่าน
ก็น่าจะนับถือในน้ำใจของพระหนุ่มเณรน้อย
และให้ความเคารพในบารมีธรรมของพระเถรานุเถระทั้งหลาย

คราวนี้ มาทำความเข้าใจคำว่า “เนื้อนาบุญ” กันสักนิดหนึ่ง 
ที่ท่านเรียกพระสงฆ์ว่าเป็นเนื้อนาบุญนั้น
เป็นการอุปมาการถวายทานกับการทำนา  โดยท่านเปรียบ

                                    ทายก ผู้ถวายทาน           เหมือนกับ          ชาวนา
                                    ปฏิคาหก ผู้รับทาน         เหมือนกับ          ที่นา (เนื้อนา)
                                    ไทยธรรม                       เหมือนกับ          เมล็ดพันธุ์
                                    อานิสงส์ ผลบุญ             เหมือนกับ          ผลผลิต

หากที่นามีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุครบถ้วน 
แม้ชาวนาจะหว่านเมล็ดพันธุ์เพียงจำนวนเล็กน้อย
ก็ย่อมได้ผลผลิตเป็นอันมาก เปรียบเหมือนกับทายก
ผู้ถวายทานแก่ปฏิคาหก ที่เป็นเนื้อนาบุญที่ดี
ก็ย่อมได้อานิสงส์ผลบุญเป็นอันมากเช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม  หากที่นาแห้งแล้ง ไม่มีแร่ธาตุในดินเลย 
แม้ชาวนาจะหว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปเป็นจำนวนมาก
ก็ย่อมได้ผลผลิตน้อย เปรียบเหมือนกับทายก
ผู้ถวายทานแก่ปฏิคาหก ที่ไม่ใช่เนื้อนาบุญ
คือเป็นนาบุญที่ไม่ดี ก็ย่อมได้อานิสงส์ผลบุญน้อยเช่นเดียวกัน

ที่ท่านเรียกพระสงฆ์ว่า เป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยม ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า 
จึงหมายความว่า การถวายทานกับพระสงฆ์นั้น
จะได้อานิสงส์ผลบุญมากกว่าทำทานกับบุคคลอื่น ๆ

การที่จะเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใด การถวายทานกับพระสงฆ์จึงได้บุญมาก
ทำไม พระสงฆ์จึงเป็นเนื้อนาบุญนั้น
จะต้องทราบ เข้าใจ และตระหนักถึงภาระหน้าที่ของพระสงฆ์
ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้เป็นแบบอย่างแนวทางเสียก่อน

ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงภาระหน้าที่ของพระสงฆ์
ที่มีต่อญาติโยมไว้ถึง ๖ ประการ คือ
                        ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว                           ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
                        ๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม                  ๔. ให้ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง
                        ๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง        ๖. บอกทางสวรรค์ให้

เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจตามสภาพสังคมปัจจุบัน
อาจจัดเรียงภาระหน้าที่ทั้ง ๖ ข้างต้นเป็นกลุ่มได้ ดังนี้๑. ภาระหน้าที่ในข้อ ๑, ๒ และ ๖  อาจกล่าวได้ว่า พระสงฆ์ คือ ครูสอนศีลธรรม          
๒. ภาระหน้าที่ในข้อ ๔ และ ๕  อาจกล่าวได้ว่า พระสงฆ์ คือ นักพัฒนาการศึกษา๓. ภาระหน้าที่ในข้อ ๓  อาจกล่าวได้ว่า พระสงฆ์ คือ นักสังคมสงเคราะห์

ขออธิบายโดยเริ่มต้นจากภาระหน้าที่
ที่ชาวโลกโดยทั่วไปน่าจะทำความเข้าใจได้ง่ายก่อน คือ

ภาระหน้าที่ในกลุ่มที่ ๓  พระสงฆ์ คือ นักสังคมสงเคราะห์ ผู้อนุเคราะห์ญาติโยมด้วยน้ำใจอันงาม

ในเรื่องนี้ หากพวกเรามีโอกาสไปต่างจังหวัด ไปตามวัดในหมู่บ้านต่าง ๆ
จะพบเห็นบทบาทของพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ตัวยง

ข้าวปลาอาหารที่ญาติโยมถวายมา เมื่อท่านขบฉันเสร็จแล้ว
ก็จะถูกนำไปเผื่อแผ่แบ่งปันให้กับญาติโยมที่มาถือศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม
ตลอดจนบรรดาลูกศิษย์ลูกหา เด็กวัดทั้งหลาย 
บางแห่งก็ยังเจือจานไปจนถึงสรรพสัตว์ที่มาอาศัยวัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหมา เป็นแมว
ที่ใครบางคนแอบเอามาถวายวัดในยามที่ไม่ต้องการพวกมันแล้ว

ในพื้นที่ห่างไกล บนเขาบนดอย  ยาแผนปัจจุบันที่พวกชาวบ้านได้ใช้รักษากัน
ก็มักจะมาจากเครื่องไทยธรรม ที่คนในเมืองนำมาถวายพระนั่นเอง

สถานที่หนึ่งที่มักจะเป็นที่พักของบรรดานักปั่นจักรยาน
นักท่องเที่ยว Backpack  ก็คือวัดนั่นเอง 
ศาลาการเปรียญก็ดี ศาลาโรงฉันก็ดี จะมีโอกาสทำหน้าที่เป็นที่พักของอาคันตุกะ
ผู้มาจากถิ่นอื่นอยู่เสมอ ๆ
           
ในยามเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ฯลฯ
สถานที่หนึ่ง ที่มักจะเปลี่ยนสภาพเป็นศูนย์พักพิง ก็คงหนีไม่พ้นวัดอีก 
ผู้ประสบภัยทั้งหลาย ก็ได้อาศัยศาลาวัดอยู่
อาศัยข้าวสารอาหารแห้งที่ได้จากการบิณฑบาต 
พอได้อาศัยพระ อาศัยวัดประทังชีวิตกันไป

สำหรับวัดที่อยู่ในเมือง ก็มักจะเป็นที่พึ่งพิงให้กับนักเรียนจากต่างจังหวัด
ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มาอาศัยอยู่เพื่อเรียนต่อ 
ในเมืองไทยนี้ ก็มีอยู่หลายท่านที่ได้อาศัยชานกุฏิพระ
อาศัยข้าวก้นบาตร จนเรียนจบ สำเร็จการศึกษา 
บางท่านได้ดิบได้ดีจนได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรีก็มี

มาถึงตอนนี้ ท่านใดที่ชอบทำทานในลักษณะสังคมสงเคราะห์
ชอบทำบุญเลี้ยงคนยากไร้ ทำบุญช่วยเหลือผู้ประสบภัย ฯลฯ 
ท่านใดที่มีความเชื่อ มีความเข้าใจว่า การทำทานในลักษณะนี้ได้บุญมาก
เพราะได้ช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน ผู้ที่เดือดร้อน  ก็คงเข้าใจได้ไม่ยากนักว่า
ทำไมพระสงฆ์จึงเป็นเนื้อนาบุญ

ภาระหน้าที่กลุ่มถัดมา ที่ชาวโลกน่าจะทำความเข้าใจได้ไม่ยากเกินไป ก็คือ
ภาระหน้าที่ในกลุ่มที่ ๒ พระสงฆ์ คือ นักพัฒนาการศึกษา

ผู้สั่งสอนญาติโยมให้ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง และให้เข้าใจแจ่มแจ้งในสิ่งที่เคยฟังแล้ว
ในเรื่องนี้ หากเป็นคนห่างวัด ห่างพระ ก็ยากที่จะเข้าใจอยู่ 
เพราะผู้ที่จะพบเห็นพระสงฆ์ในบทบาทที่เป็นนักพัฒนาการศึกษา
ย่อมต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ มีส่วนร่วมในงานศึกษาสงเคราะห์ที่ท่านทำ

พระสงฆ์นักพัฒนา นักการศึกษาสงเคราะห์ หลาย ๆ รูป เห็นเด็กยากจน
ผู้ไม่มีโอกาสเล่าเรียนเขียนอ่าน เหมือนลูกคนมีฐานะ
ก็คิดจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็ก ๆ เหล่านั้น
ตามกำลังทุนทรัพย์ กำลังปัจจัยที่มีผู้ทำบุญกับท่าน

ถ้ากำลังทุนทรัพย์มีจำกัด ท่านก็จัดตั้งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม
รับนักเรียนชาย ให้บวชเรียนเป็นสามเณร
พอช่วยประหยัดค่าอาหารกลางวัน ค่าชุดนักเรียน ฯลฯ 
หรือไม่ ก็เปิดเป็นโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
สอนวิชาภาษาไทย วิชาเลข พอให้เด็กอ่านออกเขียนได้
ควบคู่ไปกับวิชาธรรมศึกษา

ถ้ามีทุนทรัพย์อยู่บ้าง ท่านก็ตั้งเป็นโรงเรียนการกุศลของวัด
รับนักเรียนทั้งหญิงและชาย เปิดสอนเหมือนกับโรงเรียนทั่ว ๆ ไป 
เท่าที่เคยสัมผัสมา บางแห่งมีชื่อเสียง มีคุณภาพดีกว่าโรงเรียนทั่วไปเสียด้วยซ้ำ

จากผลงานด้านการศึกษาสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ 
ภายหลัง ทางราชการจึงขออาศัยใบบุญของพระ ของวัด
ช่วยดำเนินการ หรือช่วยอุปถัมภ์ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ของบรรดา อปท. 
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน หรือ กศน. ตำบล ของกระทรวงศึกษาฯ 
แม้กระทั่งในปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 
โครงการโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ของกระทรวง พม.
ก็มักจะอาศัยวัดเป็นสถานที่จัดกิจกรรม

นอกจากนี้แล้ว ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลาย ๆ อย่าง ในหลาย ๆ พื้นที่
ก็ได้อาศัยพระสงฆ์ที่เป็นปราชญ์ภูมิปัญญาด้านนั้น ๆ เป็นผู้แนะนำ
ถ่ายทอดให้กับญาติโยม เท่าที่ท่านพอจะอนุเคราะห์ได้ โดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย 
ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์แผนโบราณ งานศิลปหัตถกรรม ฯลฯ
ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ

อาจพูดได้ว่า พระสงฆ์รับภาระหน้าที่เป็นนักการศึกษา เป็นปราชญ์ภูมิปัญญา
สั่งสอนญาติโยมตั้งแต่วัยเด็กเล็ก วัยทำงาน ไปจนถึงวัยชราเลยทีเดียว 
เพราะฉะนั้น ท่านใดที่ชอบบริจาคทุนทรัพย์ให้กับ
โรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือบริจาคทุนการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ฯลฯ 
ท่านใดที่มีความเชื่อ ความเข้าใจว่า การทำทานในลักษณะนี้ ได้บุญมาก
เพราะได้ช่วยเหลือคนยากจน ได้ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กผู้ยากไร้
เป็นการให้อนาคตกับคนเหล่านั้น ก็คงเข้าใจได้ไม่ยากนักว่า
ทำไมพระสงฆ์จึงเป็นเนื้อนาบุญ

อันที่จริงแล้ว ภาระหน้าที่ที่เอ่ยถึงก่อนทั้ง ๒ กลุ่มนี้
มิได้เป็นภาระหน้าที่หลักของพระสงฆ์ 
แต่ก็เรียกได้ว่า เป็นภาระหน้าที่ที่มีความสำคัญไม่น้อย
และมีความผูกพันกับสังคมไทยมาอย่างช้านาน

พระสงฆ์เป็นผู้รับทาน แต่ก็เป็นผู้รับเพื่อให้
ท่านมิได้ยึดติด หวงแหนในจตุปัจจัยที่ญาติโยมถวาย
หรือคิดละโมบ สะสมทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตนเลย
กลับยินดีที่จะแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยน้ำใจอันงาม  เป็นความงดงามของปฏิคาหก ผู้รับทานที่เป็นเนื้อนาบุญอย่างแท้จริง  และเป็นความงดงามของพระพุทธศาสนา
ซึ่งสร้างสรรค์สังคมแห่งความเกื้อกูลอนุเคราะห์กันระหว่างพุทธบริษัททั้ง ๔

มุมมองเช่นนี้ น่าจะพอทำให้ชาวพุทธรุ่นใหม่หลาย ๆ ท่านที่มีความสงสัย
ไม่เข้าใจว่า ทำไมพระสงฆ์จึงเป็นเนื้อนาบุญ
ได้หยุดไตร่ตรอง พินิจพิเคราะห์ ในสิ่งที่ปู่ย่าตาทวด บรรพบุรุษของไทย  
ผู้ใกล้ชิดพระใกล้ชิดวัด เป็นอุบาสกอุบาสิกา ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัยอย่างแท้จริง
ล้วนแล้วแต่ตระหนักรู้และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งทั้งสิ้น

มาถึงภาระหน้าที่ในกลุ่มสุดท้าย
ซึ่งจัดว่าเป็นบทบาทหน้าที่หลักของพระสงฆ์ คือ ครูสอนศีลธรรม
ผู้คอยห้ามปรามมิให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี
เป็นผู้ชี้บอกหนทางสวรรค์ให้แก่ญาติโยม

ในเรื่องนี้ ชาวพุทธส่วนใหญ่มักจะคิดว่า
ตนเองเข้าใจภาระหน้าที่ของพระสงฆ์ ผู้ทำหน้าที่ครูสอนศีลธรรมแล้ว 
บ้างก็เข้าใจว่า หมายถึงการที่พระสงฆ์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์สอนญาติโยม
ที่มาวัดในวันพระ หรือในเทศกาลงานบุญต่าง ๆ 
บ้างก็เข้าใจในลักษณะที่ท่านเป็นครูพระสอนศีลธรรมตามโรงเรียน เป็นต้น 
และด้วยความเข้าใจเช่นนี้ ก็ทำให้หลาย ๆ ท่านเกิดความรู้สึกว่า
พระสงฆ์ที่มิได้ทำหน้าที่แบบนี้ ไม่ได้เป็นเนื้อนาบุญ 
ทำบุญถวายทานกับท่านแล้ว ไม่น่าจะได้บุญมาก

ความรู้ความเข้าใจเช่นนี้ยังไม่สมบูรณ์นัก ที่เป็นเช่นนี้
เพราะชาวพุทธเหล่านั้นไม่เข้าใจวงจรชีวิตของพระสงฆ์นั่นเอง 
ในที่นี้ จึงขออธิบายชีวิตของพระสงฆ์สักหน่อยหนึ่ง

ในช่วง ๕ ปีแรกของการบวช หรือพระสงฆ์ ผู้มีพรรษา ๑ – ๕ นั้น
ท่านเรียกว่า พระนวกะ แปลว่า ผู้บวชใหม่ 
ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย ในข้อวัตรปฏิบัติของพระ 
พระสงฆ์ผู้บวชใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนอยู่กับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ก่อน 
พูดง่าย ๆ ว่า เป็นพระนักเรียน พระนักศึกษา ที่กำลังปรับตัว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
จากความคุ้นเคยอย่างคฤหัสถ์ สู่ความเป็นสมณะผู้สำรวม
           
เพราะฉะนั้น พระนวกะเหล่านี้
ยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นครูสอนศีลธรรมได้อย่างเต็มที่ 
เนื่องจากยังต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ธรรมะอีกมาก 
เวลาที่ทำบุญถวายทานกับพระสงฆ์เหล่านี้ อยากให้คิดว่า
ได้ถวายทานกับพระนักเรียน ผู้ตั้งใจศึกษาธรรมะ ฝึกหัดขัดเกลานิสัย
เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเป็นครูสอนศีลธรรมที่ดีในอนาคต

อนึ่ง เนื่องจากพระนวกะเหล่านี้ เพิ่งบวชใหม่
ก็มักจะติดนิสัย ความคุ้นเคยเดิม ๆ อย่างคฤหัสถ์อยู่บ้าง 
บางครั้งก็อาจกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ถูกไม่ควรไปบ้าง 
ในกรณีเช่นนี้ ชาวพุทธก็ควรที่จะเข้าใจ และให้กำลังใจท่าน 
ไม่ใช่ไปซ้ำเติมท่านอย่างที่เห็นเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์

หากจะอุปมาก็เหมือนกับเด็กนักเรียนนั่นเอง 
อาจจะทำผิดพลาดไปบ้าง ผู้ที่พบเห็นก็ควรให้คำแนะนำ
และให้โอกาสในการปรับปรุงแก้ไขตนเอง 
คงไม่มีใครคิดที่จะเอาเด็กนักเรียนเข้าคุกท่าเดียว

เมื่อพ้นช่วง ๕ ปีแรกไปแล้ว พระสงฆ์ผู้มีพรรษา ๖ – ๑๐ ท่านเรียกว่า พระมัชฌิมะ
แปลว่า ผู้ปานกลาง คือ พ้นจากสถานะพระนักเรียน
ที่จะต้องอยู่ศึกษาธรรมะกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์แล้ว
แต่ภูมิรู้ภูมิธรรมที่มี ก็ไม่ถึงขั้นที่จะทำหน้าที่สอนศีลธรรมผู้อื่นได้ 
พระมัชฌิมะเหล่านี้ มักจะออกไปช่วยเหลืองานพระศาสนาตามวัดวาอารามต่าง ๆ
ไปเป็นลูกมือ เป็นผู้ช่วยของพระผู้ใหญ่ เพื่อศึกษาเรียนรู้งานเผยแผ่พระศาสนาภาคสนาม
ควบคู่ไปกับการฝึกฝนอบรมสมณธรรม และศึกษาธรรมะเพิ่มเติมด้วยตนเอง 
อาจจะเรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาฝึกประสบการณ์ เป็นครูฝึกสอนนั่นเอง

และตั้งแต่พรรษาที่ ๑๐ เป็นต้นไป พระสงฆ์ก็จะเข้าสู่ภูมิของพระเถระ
แปลว่า พระผู้ใหญ่  เป็นผู้ที่ผ่านการเรียนรู้พระธรรมวินัย
ผ่านการฝึกหัดขัดเกลานิสัยในระดับหนึ่ง  
และมีประสบการณ์ในงานเผยแผ่พระศาสนามากพอสมควรแล้ว 
พระเถระเหล่านี้ก็จะรับภาระหน้าที่เป็นครูสอนศีลธรรมได้อย่างเต็มที่
เต็มกำลังความรู้ความสามารถของท่าน
           
ธรรมดา ครูบาอาจารย์ทางโลก ที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ
ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ต่าง ๆ ให้กับลูกศิษย์
ย่อมสมควรได้รับการเคารพบูชา การยกย่องเทิดทูนจากมหาชนทั้งหลาย
 
พระเถระทั้งปวงนั้น หาใช่เพียงทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ สอนสั่งธรรมะเท่านั้นไม่
แต่ท่านได้สละความสุขทางโลกที่คนทั่ว ๆ ไปยากที่จะตัดใจได้
ยอมอุทิศชีวิตตน เพื่อทำหน้าที่เป็นครูสอนศีลธรรม
คอยห้ามปรามญาติโยมมิให้ทำความชั่ว
คอยแนะนำ ชักชวนให้ทำความดี ส่งผลให้สังคมไทยร่มเย็นเป็นสุขเรื่อยมา
น้ำใจอันประเสริฐของพระสงฆ์เช่นนี้
แม้ในเบื้องต้นดังที่กล่าวมานี้  ก็มากพอที่เราควรจะยกย่องท่านว่าเป็น “เนื้อนาบุญ”

ดังนั้น หากจะกล่าวโดยสรุป ตามมุมมองของคนสมัยใหม่แล้ว  
อาจกล่าวได้ว่า พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ ก็ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ

1.       ท่านเป็นครูสอนศีลธรรม ที่คอยแนะนำพร่ำสอน ให้ผู้คนในสังคมตั้งมั่นอยู่ในศีล
ในธรรม คอยห้ามปรามไม่ให้ทะเลาะเบาะแว้ง หรือทำอันตรายซึ่งกันและกัน
และคอยแนะนำให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้สังคมสงบสุข
ซึ่งยากที่จะหาใครเสียสละความสุขทางโลก มาทำหน้าที่เช่นนี้ได้ 
พระสงฆ์จึงเป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยม ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า 
โลกิยทรัพย์ คือจตุปัจจัย ที่ญาติโยมถวายแด่ท่าน
ก็เป็นไปเพียงเพื่อการดำรงอัตภาพให้อยู่ได้ 
และแปรเปลี่ยนไปเป็นอุปกรณ์ในการทำหน้าที่ครูสอนศีลธรรม
เพื่อที่ท่านจะได้นำเอาอริยทรัพย์ คือธรรมะ มาตอบแทนคืนแก่ญาติโยมนั่นเอง 

2.       นอกจากเป็นครูสอนศีลธรรมแล้ว ท่านยังเป็นนักพัฒนาการศึกษา
เป็นนักสังคมสงเคราะห์  ใครที่ได้ทำบุญกับท่าน ก็เหมือนกับได้บริจาคทุนทรัพย์
เพื่อการศึกษา และได้ทำทานช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากอีกทางหนึ่งด้วย 
การถวายทานแด่พระสงฆ์ จึงเป็นปฏิกิริยาการให้ที่ต่อเนื่อง
เป็นการให้ที่ครบวงจรทั้งทางโลกและทางธรรม 
เพราะฉะนั้น พระสงฆ์จึงเป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยม ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า


ฐานวีโร ภิกขุ  (ปธ.๖)
9 กันยายน 2560 


8 ความคิดเห็น:

  1. ขอกราบนมัสการและขอกราบอนุโมทนาบุญกับพระอาจารย์ที่ช่วยชี้ทางสว่างให้แก่ผู้อ่านได้มีโอกาสทำความเข้าใจ ได้รับความรู้ที่สามารถนำไปอธิบายต่อให้กับเพื่อน ญาติๆ คนรู้จักได้อย่างชัดเจนเพิ่มมากยิ่งขึ้น สาธุ

    ตอบลบ
  2. กราบอนุโมทนาบุญครับ สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ
  3. ขอกราบอนุโมทนาบุญ พระอาจาย์ ได้ให้คำตอบชัดเจน เสริมความรู้ เติมปัญญา เจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  4. ขอกราบอนุโมทนาบุญพระอาจารย์เจ้าค่ะ เป็นความรู้ที่ควรศึกษา

    ตอบลบ
  5. ขอกราบอนุโมทนาบุญเจ้าค่ะ ที่เมตตาให้คำแนะนำและสั่งสอน เจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  6. การสนับสนุนผู้ปฏิบัติดีแม้เพื่อตัวเองบุญก็เกิดแล้วยิ่งเป็นต้นแบบและชวนคนให้คงอยู่ในความดีได้บุญก็ทับทวีไม่มีประมาณ

    ตอบลบ