วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ตอบคำถามผู้สงสัย : กรณีพระใช้ facebook และสื่อ Social อื่นๆ





1.พระใช้ facebook ไม่ผิดหรือ?

ตอบ : 
ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่า ใช้ทำอะไร ถ้าใช้ในทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ก็ไม่เป็นบาปกลับเป็นบุญเพราะนำธรรมะมาสอนคนในสื่อเทคโนโลยี 
ที่คนสมัยใหม่มักไม่มีเวลาอ่านหนังสือธรรมะ 
ดังนั้นที่พระหรือวัดส่วนใหญ่เปิด facebook ขึ้นมาก็เพื่อให้ญาติโยมที่ไม่มีเวลา 
หรือมีเวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอได้อ่านธรรมะทางออนไลน์ 
นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือใช้แจ้งข่าวบุญ ร่วมบุญในกิจกรรมงานบุญต่าง ๆ 
ให้ญาติโยมได้ร่วมบุญ อนุโมทนาบุญร่วมกัน 
แต่ถ้าพระใช้ในทางที่ผิดเช่น ใช้ในทางลามกอนาจารก็เป็นกรรม 
และเป็นกรรมหนักด้วย


2.พระบวชแล้วทำไมไม่ละทางโลกโซเชี่ยลฯ

ตอบ : 
ต้องเข้าใจดังนี้ก่อนว่า พระท่านมีหลายประเภทเช่น ...

พระนักปฏิบัติก็มี ท่านก็จะปลีกวิเวกออกไปจาริกเดินธุดงค์
แบกกลดไปตามทางหรือเข้าป่าไปเลย

พระศึกษาปริยัติ ท่านก็จะเรียนตำราคัมภีร์พระไตรปิฎกเพียงอย่างเดียว 
เพื่อศึกษาและนำมาเผยแผ่ศาสนา

พระนักเผยแผ่ เช่น พระนักเทศน์ พระนักอบรม 
(จัดโครงการบวชพระ สามเณร อุบาสิกาแก้วฯ หรืออบรมธรรมะให้กับนักเรียน นักศึกษา)

พระธรรมฑูต ที่ถูกนิมนต์ไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อสอนธรรมะและประกาศศาสนา 
หรือพระที่ท่านเป็นพระนักเผยแผ่ท่านก็มีหลายวิธีเช่น ...
ไปออกรายการโทรทัศน์ เขียนหนังสือ ทำBlog ,website ,facebook 
เกี่ยวกับธรรมะเป็นของตนเอง 
หรือของวัดทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ดังนั้น ...
จึงเป็นการไม่ผิดที่นำธรรมะมาเผยแผ่ ยังดีกว่าสื่อลามกอนาจารมิใช่หรือ 
ให้คิดว่าเป็นบุญของเรา แม้เราไมมีเวลาแต่พระท่านมาโปรดถึงที่หน้าจอ


3.ทำไมเพื่อนที่พระรับ add ไว้ จึงมีเพื่อนที่เป็นผู้หญิงด้วย?

ตอบ : 
หากว่าพระรับ add แต่ ผู้ชาย ก็เท่ากับว่าการเผยแผ่ธรรมะเป็นการจำกัดเพศ จำกัดบุคคล 
เพราะโยมสีกาที่เป็นผู้หญิงที่เขามีศรัทธา ขอ add ใน facebook ของพระ 
เขาก็อยากที่จะสนทนาธรรมะ แล้วอยากที่จะเป็นผู้เข้าใกล้พระรัตนตรัย 
คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหมือนกับผู้ชาย 
แต่หากกลับกันถ้าผู้ถามที่เป็นผู้ชายว่า 
ถ้าหากเขาไปเกิดเป็นผู้หญิงแล้วมีข้อจำกัดว่าไม่ให้พระแสดงธรรมะแก่เพศหญิง 
เขาเหล่านั้นอยากที่จะศึกษาธรรมะ แต่ถูกปิดโอกาส จะเป็นเช่นไร 
ดังนั้นให้บุคคลที่มีเนื้อที่ของใจอันน้อยนิด ทำใจให้กว้างขึ้น


4.แล้วพระเผยแผ่ทางสื่ออื่นไม่ได้หรือ?

ตอบ : 
ตามความจริงเผยแผ่ได้หลายทาง เช่น ทีวี การเทศน์ หรือออกหนังสือเป็นต้น 
แต่เราต้องมองความเป็นจริงว่า เราไปฟังธรรมะที่วัดกับพระทุกวัน 
หรือเรามีเวลาไปถือศีลที่วัดทุกวันหรือไม่
ดังนั้นการเผยแผ่พระพุทธศานาที่ตรงจุดและง่าย ให้กับเด็กเยาวชน หรือคนยุคใหม่ 
จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี เช่น ทาง facebook live ออนไลน์เสวนาธรรมะเป็นต้น 
หากพระจะไปเช่าสถานี ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมาก หากพระให้คำปรึกษาโยมทางโทรศัพท์ 
ก็จะมีคนที่จิตอกุศล คิดไปต่าง ๆ นานาอีกว่าพระคุยกับใครเป็นชั่วโมง 
ดังนั้น การเผยแผ่ธรรมะ ต้องไม่เป็นการเดือดร้อนผู้เผยแผ่เองและผู้อื่นด้วย


5.ทำไมพระบางรูปจึงออนไลน์ facebook ดึก ๆ?

ตอบ : 
พระบางรูปท่านอาจอยู่ต่างประเทศ เวลาไม่ตรงกันจึงออนดึกได้ 
บางกรณีตอนเช้าต้องไปเรียน ปฎิบัติศาสนกิจ หรือมีกิจนิมนต์ถึงเย็น 
กลับมากว่าจะสรงน้ำ สวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม 
หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายจนดึก บางทีต้องหาข้อมูลงานทางอินเตอร์เน็ต 
จึงออนไลน์ facebook ในช่วงที่ยังไม่จำวัตรนั่นเอง ตีสามตีสี่ 
ก็ต้องตื่นมาทำวัตรสวดมนต์ บิณฑบาตตามปกติเป็นอย่างนี้ทุกวัน 
ดังนั้นเราจึงไม่ควรด่วนสรุปว่าทำไมท่านจึงยังไม่จำวัตรพักผ่อนเสียที่ 
ว่าทำไมท่านไม่ออนไลน์ facebook ในตอนกลางวัน 
คำตอบที่ตอบมานี้คงคลายข้อสงสัยอยู่ได้บ้าง


สรุปคือ...
หากพระท่านใช้สื่อโซเชียลฯ ในทางที่ดีงาม สอนจริยธรรม ศีลธรรม และให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งดีเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจทั่วไปมิใช่หรือแต่มีข้อที่น่าให้คิดว่าทำไม เมื่อพระออกมาในสื่อเผยแผ่ออนไลน์หรือโซเชี่ยลฯ จึงมีคนโจมตีมากมายทั้ง ๆ ที่ใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ แก่คนทั่วไป แต่ทำไมสื่อลามกอนาจารมากมายที่เหตุของ กาม ตัณหา ราคะ ทำให้เกิดภัยสังคมมากมาย จึงมีคนส่วนน้อยที่ออกมโจมตี  หรือวันนี้ จริยธรรมในใจคนนั้นหายไป !!?

Cr. ภิกษุหนึ่ง ณ ยุคSocial Network กล่าวไว้ 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น